ญี่ปุ่น 11 พ.ค.-รมว.พาณิชย์ ลุยญี่ปุ่น ชวนสมาพันธ์เอกชนรายใหญ่ญี่ปุ่นลงทุนไทย เครื่องมือแพทย์ รถไฟ อากาศยาน นวัตกรรม พลังงานสะอาดและสีเขียวรับกติกาโลกใหม่ พร้อมให้ไทยเป็นฐานการผลิตสร้างแต้มต่อการค้าระหว่างกัน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวภายหลังการหารือกับนายซูซูกิ จุน ประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจญี่ปุ่น–ไทย ภายใต้สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) ที่โรงแรม Imperial กรุงโตเกียว เย็นวานนี้(10 พ.ค.67) เพื่อผลักดันเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันและชวนมาลงทุนในไทย ว่า ไทย-ญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าที่ดีมาอย่างยาวนาน โดยในปี 2566 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย และญี่ปุ่นถือเป็นประเทศศักยภาพที่สำคัญของไทยในด้านการลงทุน โดยลงทุนสะสมในไทยมากเป็นอันดับ 1 เป็นสัดส่วนการลงทุนถึง 1 ใน 4 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ตนจึงได้เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น และรัฐบาลไทยพร้อมที่จะสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจให้กับนักลงทุนญี่ปุ่น โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ไทยได้มีการยกเว้นวีซ่านักธุรกิจญี่ปุ่นนาน 30 วัน
ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้เสริมสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจแก่นักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยเฉพาะข้อเรียกร้องภาคเอกชนญี่ปุ่นในไทยที่ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ปลดล็อกให้คนต่างด้าวหรือคนญี่ปุ่นสามารถถือหุ้นข้างมากในธุรกิจต่าง ๆ ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน ได้เชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในธุรกิจสีเขียว โดยได้แจ้งว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการปรับตัวเพื่อรองรับและส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้สอดรับกับกฎกติกาใหม่ ๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อความยั่งยืน มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ใช้พลังงานสะอาด แต่ในการเปลี่ยนผ่านการผลิตรถยนต์จากรถเครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าร่วมกันระหว่างไทย-ญี่ปุ่น จะมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยบางส่วน ประมาณ 800 บริษัท จะต้องผันตัวไปสู่อุตสาหกรรมอื่น จึงอยากจะขอทางเคดันเรน ช่วยเป็นสื่อกลางการเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รถไฟ อากาศยาน และ Automation Robotic ของญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดการร่วมลงทุนและการค้าระหว่างสองประเทศในด้านดังกล่าวนี้เพิ่มขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ ทราบมาว่าภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ก็ได้ทำโครงการดี ๆ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียวมากมาย เช่น โครงการผลิตเส้นใยชั้นสูงจากขวด PET (High-functional recycled polyester fibers deri ved from recycled PET bottle) ของบริษัท TEIJIN ในไทยของท่านรองประธาน ก็เป็นโครงการที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง และอยากจะขอให้ทางเคดันเรน ช่วยผลักดันโครงการสีเขียวอื่น ๆ ผ่านสมาชิกในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดการแบ่งปันความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดระหว่างสองประเทศด้วย
ทางด้านเคดันเรนได้แจ้งว่า นักธุรกิจญี่ปุ่นมองไทยเป็นฐานหลักในการทำธุรกิจ มีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นต่อกันมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีผู้ประกอบการญี่ปุ่นกว่า 5,800 บริษัท ทั้งภาคการผลิตไปจนถึงภาคบริการ ประกอบธุรกิจอยู่ในประเทศไทย กล่าวได้ว่า สำหรับภาคธุรกิจญี่ปุ่น ประเทศไทยเป็นฐานหลักซึ่งสำคัญที่สุด และไทยยังมีความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นหลักสำคัญแห่งหนึ่งใน Supply Chain ระดับโลก และได้เชิญชวนให้นายภูมิธรรม ร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Trade and Economic Committee) ครั้งที่ 25 ในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ ที่กรุงโตเกียวด้วย และหวังให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย และประเทศในกลุ่มอาเซียน ด้านการค้าและการลงทุนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า เคดันเรน เป็นองค์กรธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยมีสมาชิกเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น มีสมาชิกที่เป็นบริษัทญี่ปุ่นถึง 1,548 แห่ง สมาคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 154 แห่ง และองค์กรเศรษฐกิจระดับภูมิภาค 47 จังหวัด.-514.-สำนักข่าวไทย