กรุงเทพฯ 7 พ.ค. – เช้านี้กทม. และปริมณฑลมีเมฆปกคลุมและฝนฟ้าคะนอง เหตุมีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้ที่พัดปกคลุมตอนบนของประเทศ ในขณะที่มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดอยู่ โดยอาจมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้ กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือน 60 จังหวัด
นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า เช้าวันนี้ (7 พฤษภาคม) กทม. และปริมณฑลมีฝนฟ้าคะนอง ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นถึงเมฆฝนที่ยังปกคลุม โดยรวมถึงบริเวณภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างด้วย
ระยะนี้สภาวะฝนฟ้าคะนองเกิดเพิ่มขึ้น จากอิทธิพลแนวสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก การกระจายของฝนเริ่มมากขึ้นและคลายร้อนได้บ้าง กลุ่มฝนจะเคลื่อนตัวจากทางด้านตะวันออกไปตะวันตกและต้องระวังพายุฤดูร้อน ส่วนภาคใต้ ลมตะวันออกจะเริ่มพัดปกคลุมมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนปานกลางถึงหนักบางพื้นที่และต้องระวังพายุฝนฟ้าคะนอง
กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนเรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน จากแนวพัดสอบของลมดังกล่าว ประกอบกับที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้วันนี้มีพื้นที่เสี่ยงเกิดพายุฤดูร้อนรวม 60 จังหวัด ดังนี้
- ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคกลางได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ลักษณะของอากาศจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย
ในวันที่ 8- 10 พฤษภาคม แนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง รวมทั้งมีฝนตกหนักบางพื้นที่ด้วย
ตั้งแต่วันที่ 14-16 พฤษภาคม ทางด้านทะเลอันดามันเริ่มมีลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม ฝนยังมีต่อเนื่องเป็นสัญญาณก่อนการเปลี่ยนฤดูจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน ขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยากำลังติดตามเงื่อนไขต่างๆ ของสภาพอากาศเพื่อประกาศเริ่มต้นฤดูฝน แต่เบื้องต้นคาดว่า จะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคมซึ่งจะช้ากว่าค่าปกติประมาณ 1-2 สัปดาห์ ปัจจุบันอยู่ในภาวะเอลนีโญกำลังอ่อนแล้ว จากนั้นจะเข้าสู่ภาวะเป็นกลาง และในช่วงเดือนกรกฎาคมจะเป็นลานีญากำลังอ่อน . 512 – สำนักข่าวไทย