กรุงเทพฯ 2 พ.ค.- กรมอุตุนิยมวิทยาระบุ สภาวะอากาศประเทศไทย จะไม่ร้อนไปกว่านี้ เนื่องจากมีสัญญาณเปลี่ยนฤดูกาล จากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว โดยอุณหภูมิเฉลี่ยปี 67 สูงกว่าค่าปกติ 0.7-1.1 องศาเซลเซียส ส่วนเหตุรางรถไฟในภาคใต้คดงอ เหตุจากร้อนจัด ทำให้เหล็กยืดตัว เป็นไปได้เนื่องจากภาคใต้ร้อนสะสมเพราะปริมาณฝนน้อยมาก
นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศกล่าวว่า ทิศทางลมที่ปกคลุมประเทศไทยเริ่มแปรปรวนเป็นสัญญาณการเปลี่ยนฤดูกาล จากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน ระหว่างวันนี้จนถึงวันที่ 11 พฤษภาคมต้องเฝ้าระวังพายุฤดูร้อนเนื่องจากลมระดับล่าง มีหลายกระแสพัดเข้าหากัน ส่วนระดับบนมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน เมฆและฝนเพิ่มขึ้น โดยจะตกในเวลาสั้นๆ ช่วงเย็นถึงค่ำ แต่ยังไม่ตกทั่วถึงทุกพื้นที่
สิ่งที่ต้องระวังคือ มีลมกระโชกแรงและลูกเห็บเกิดขึ้นได้ อาจเกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม. และปริมณฑล เมื่อมีฝนตกลงมาจะช่วยทำให้อากาศที่ร้อนจัดคลี่คลายบ้าง
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ประเทศจะเข้าสู่ฤดูฝนในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคม ดังนั้นช่วงที่ร้อนที่สุดผ่านไปแล้ว อุณหภูมิจะไม่สูงไปกว่านี้ โดยอุณหภูมิสูงสุดของฤดูร้อน 2567 อยู่ที่ 44.2 องศาเซลเซียสที่อำเภอเถิน จังหวัดลำปางเมื่อวันที่ 22 เมษายนซึ่งยังไม่ทำลายสถิติที่เคยบันทึกได้ 44.6 องศาเซลเซียสที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนในปี 2559 และที่จังหวัดตากในปี 2566 โดยมีพื้นที่ที่อุณหภูมิสูงสุดทำลายสถิติเดิมในฤดูร้อน 41 พื้นที่
สำหรับอุณหภูมิเฉลี่ยฤดูร้อนปีนี้ สูงกว่าค่าปกติประมาณ 0.7 – 1.1 องศาเซลเซียสตามแต่ละภูมิภาค
ส่วนที่เกิดเหตุรางรถไฟในภาคใต้คดงอเนื่องจากร้อนจัดเป็นเหตุให้เหล็กขยายตัวนั้น คาดว่า เกิดจากความร้อนสะสม แม้อุณหภูมิเฉลี่ยในภาคใต้จะไม่ได้สูงที่สุด แต่ปริมาณฝนที่ตกในภาคใต้น้อยและทิ้งช่วงนานแล้วจึงทำให้เกิดความร้อนสะสม
ขณะที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมโลกระบุว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เหตุการณ์ภูมิอากาศสุดขั้วมีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเป็นผลพวงมาจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นราว 1.1 องศาเซลเซียส เทียบกับช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในปี พ.ศ. 2393 ซึ่งทุกประเทศประสบปัญหา รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้จากการวิจัยของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมกับศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิระดับภูมิภาคและพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยรามคำแหง (RU-CORE) คาดการณ์ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นไปถึง 2 – 3 องศาเซลเซียสในปลายศตวรรษนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประเทศไทยจะเป็นประเทศเป็นที่จะได้รับผลกระทบในอันดับต้นๆ ของโลก. 512 – สำนักข่าวไทย