รัฐสภา 24 เม.ย. –“วันนอร์” รอ ครม.เคาะวันเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ ถกงบฯ 68 ย้ำเดือน มิ.ย.เหมาะสม เผยร่างแก้ รธน.ยังนำเข้าพิจารณาไม่ได้ เหตุต้องรอทำประชามติก่อน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ว่า อยู่ที่รัฐบาลว่าจะนำร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ เข้าเมื่อไหร่ ถ้ารัฐบาลต้องการนำงบเข้าวาระแรก ในช่วงปิดสมัยประชุม รัฐบาลก็แจ้งมายังรัฐสภาได้ เพื่อที่จะมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญและมองเป็นเรื่องดี เพราะมีอะไรที่ค้างเร่งด่วนก็จะได้ทำช่วงนั้น ส่วนจะเป็นวันที่ 5-6 มิ.ย.ตามที่มีกระแสข่าวหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลเป็นคนกำหนด เพราะช่วงเดือน พ.ค. สส.อาจจะมีภารกิจต่างๆ หากเป็นเดือนมิ.ย. ก็เหมาะสม เพราะเป็นช่วงเวลาก่อนเปิดสมัยประชุม 1 เดือน ถือว่าเป็นระยะเวลาที่สามารถขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้
เมื่อถามว่าในการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ นอกจากจะมีเรื่องงบประมาณฯแล้ว ยังมีการนำเรื่องอื่นมาพิจารณาด้วยหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าจะมีอะไรบ้าง เพราะเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่สามารถนำมาพิจารณาได้ เนื่องจากรัฐบาลจะต้องไปทำประชามติในรอบแรกก่อน ซึ่งเห็นว่าจะเสร็จประมาณเดือนกรกฎาคม แต่มีกฎหมายอีกหลายฉบับ ที่ค้างคาอยู่ ถ้ารัฐบาลอยากเอาเข้าสมัยประชุมวิสามัญ สภาก็พร้อม ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากใครเสนอมา สภาก็จะรับไว้พิจารณาส่วนจะบรรจุได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ฝ่ายกฎหมายของสภาฯและฝ่ายที่เกี่ยวข้องตรวจสอบดูว่าจะสามารถบรรจุได้หรือไม่ และต้องดูว่าจะขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งต้องรอให้ทำประชามติด้วย ส่วนที่เป็นกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการเงิน ก็ต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีให้การรับรองก่อน
สำหรับกรณีที่พรรคก้าวไกลเรียกร้องให้ ประธานสภาฯ เร่งบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ประธานสภาฯ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลสามารถเสนอมาได้ แต่จะบรรจุหรือไม่ ต้องดูอีกทีเพราะรัฐบาลก็มีมติว่าจะทำประชาติก่อน
“ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมา ว่าถ้าเสนอเข้ามาแล้วมีการพิจารณาไปแล้ว หากไปมีความขัดแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญ จนมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกตีตก ก็ทำให้เสียเวลาไปมากกว่าที่รัฐบาลได้ตัดสินใจว่าจะทำประชามติ 3 รอบ อย่างน้อยรอบแรก ก็เพื่อถามประชาชนก่อนว่าจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าอยากจะมีการแก้ไข ก็เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็ค่อยเสนอร่างเข้ามาแก้ไข ก็จะทำให้ไม่เสียเวลา ซึ่งถือว่าเป็นไปตามขั้นตอนและปลอดภัย” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว.-314.-สำนักข่าวไทย