30 มี.ค. – ปตท. ร่วมกับ บริษัทข้ามชาติของเยอรมนี ศึกษาก่อตั้งโรงงานผลิตเมทานอล ซึ่งผลิตจากคาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรเจนจากโรงแยกก๊าซ แห่งแรกในไทย จากที่ต้องนำเข้ามากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งยังเป็นการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้แผน Net Zero 2050 ของ ปตท.
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เยือนศูนย์วิจัยของบริษัทธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์ เมืองดุสบูร์ก ประเทศเยอรมนี ในโครงการความร่วมมือศึกษาก่อตั้งโรงงานผลิตเมทานอลแห่งแรกของไทย โดยธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์สนับสนุนเทคโนโลยีต้นกำเนิด
ดร.เยอร์เก้น บัตเค่อ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขายกล่าวว่า ธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์จัดทำโครงการ Carbon2Chem เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการถลุงเหล็ก มาใช้ร่วมกับกรีนไฮโดรเจนที่ได้จากการแยกน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือ Water Electrolysis แล้วใช้กระบวนการทางเคมีเพื่อสังเคราะห์เป็นกรีนเมทานอล นับเป็นเทคโนโลยีต้นกำเนิดของธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์
เมทานอลเป็นสารประกอบของคาร์บอนไดออกไซด์กับไฮโดรเจน 3 โมเลกุลจึงกักเก็บคาร์บอนได้ดี สำหรับโรงงานต้นแบบที่ศูนย์วิจัย Carbon2Chem ผลิตกรีนเมทานอลขนาด 75 ลิตร/วัน โดยนำไปใช้เป็นพลังงานของเรือขนส่งและกำลังพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงอากาศยาน
ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ปตท. กล่าวว่า ในกระบวนการผลิตของโรงแยกก๊าซธรรมชาติของปตท. ที่มาบตาพุด จังหวัดระยองจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แทนที่จะปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ขณะนี้ศึกษาแก้ปัญหาทั้งวิธีดักจับและกักเก็บไปไว้ในชั้นหินใต้ดินที่เรียกว่า Carbon Capture and Storage หรือ CCS และวิธีดักจับคาร์บอนแล้วนำมาใช้ประโยชน์ที่เรียกว่า Carbon Capture and Utilization หรือ CCU ซึ่งสามารถนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาทำปฏิกิริยากับก๊าซไฮโดรเจนที่ได้จากโรงแยกก๊าซเช่นกัน นำมาผลิตเป็นเมทานอล เป็นการเพิ่มมูลค่าเนื่องจากเมทานอลเป็นสารทำละลายในหลายอุตสาหกรรมสำคัญเช่น เฟอร์นิเจอร์ น้ำมันไบโอดีเซล ในอนาคตสามารถพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานเพื่อความยั่งยืนหรือ SAF ที่กำลังเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมการบิน นอกจากนี้ยังลดการพึ่งพาการนำเข้า โดยไทยนำเมทานอลเข้าคิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี
สำหรับความร่วมมือของ ปตท. กับธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์ ศึกษาความเป็นไปได้เชิงเทคโนโลยีและศึกษาเบื้องต้นถึงการออกแบบโรงงานผลิตเมทานอลแล้วเสร็จ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นโรงงานขนาดกำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปีและสามารถขยายกำลังการผลิตได้สูงถึง 2 ล้านตัน/ปี ประมาณการณ์ว่า ใช้เงินลงทุน 80 ล้านยูโรหรือ 3,200 ล้านบาท แต่จะต้องประเมินมูลค่าการลงทุนและโอกาสการพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจ คาดว่า จะศึกษารายละเอียดให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้
โครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนแนวทางการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ ภายใต้แผน PTT Net Zero emissions 2050 ซึ่ง ปตท. วางเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2040 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050 .-สำนักข่าวไทย