รัฐสภา 25 มี.ค.-รมว.เกษตรฯ นำทีมหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช แถลงคืบหน้าเอาผิดแก๊งนำเข้าหมูเถื่อน จ่อเอาผิดอีก9 บ.ใหญ่ ลั่นจะกำจัดวงจรอุบาทว์นี้ให้ได้
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราชซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) พ.อ.รวิรักษ์ สัตตบุศย์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการกองบังคับการ ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง และนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคานนนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับการดำเนินคดีปลอมแปลงเอกสารนำเข้าหมูเถื่อน
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า นโยบายประกาศทำสงครามกับสินค้าทางการเกษตรที่ผิดกฎหมาย ที่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ คือการปราบปรามสินค้าเถื่อน ซึ่งหลังจากกรมสืบสวนฯ ได้สุ่มตรวจตู้คอนเทนเนอร์ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อเดือนธันวาคม 2566 พบการลักลอบซุกซ่อนชิ้นส่วนเนื้อสุกรปะปนมากับสินค้าประเภทประมงและขยายผลจนนำมาซึ่งการแจ้งความดำเนินคดีผู้กระทำผิด ต่อมาได้ตั้งวอร์รูมโดยมีผู้เชี่ยวชาญ ตรวจสอบพบเอกสารปลอมแปลง และแจ้งความต่อตำรวจสอบสวนกลาง 20 คดีไปแล้ว ล่าสุดวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราชแจ้งความต่อผู้บัญชาการสอบสวนกลางอีก 1 รายทั้งหมด 220 คดี
“พบการปลอมแปลงเอกสารที่ใช้ประกอบการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำต่อกรมประมง โดยบริษัทดังกล่าวยื่นนำเข้าปลาแซลมอนและปลาจวด แต่นำสินค้าเข้าจริงเป็นอีกประเภท คือเนื้อสุกรกว่า 1,859,270 กิโลกรัม เนื้อวัว 4,135,306 กว่ากิโลกรัม ในตู้คอนเทนเนอร์ 220 ตู้ น้ำหนักประมาณ 5.9 แสนกว่ากิโลกรัม สร้างความเสียหายกว่า 1,400 ล้านบาท นอกจากนี้ได้ให้ผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ ไปยื่นดำเนินคดีกับ 3 บริษัท เบื้องต้นมีบางบริษัทที่ตรวจสอบแล้วพบการกระทำความผิด โดยปลอมแปลงเอกสารเพิ่มเป็น 2 เท่า คือสร้างความเสียหายประมาณเกือบ 3 พันล้านบาท สิ่งเหล่านี้เป็นการทำลายภาคการเกษตรทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและโค ได้รับผลกระทบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าว
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า กรณีที่นำมาแถลงส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ดำเนินคดีอยู่ก็จริง แต่บางส่วนเป็นประเด็นใหม่ สืบเนื่องจากที่ดีเอสไอ ดำเนินคดีผู้นำเข้า 161 ตู้ และขยายผลตรวจสอบพบหลักฐาน จึงเป็นที่มาของการดำเนินคดีเพิ่มอีก 220 คดี และเวลานี้ตรวจสอบเบื้องต้นเพิ่มอีก 400 กว่าคดี ความเสียหายเกิดขึ้นกับภาคการเกษตรไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านบาทหรืออาจจะถึงหมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่จะขยายผลต่อไป
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับคดีนี้ และอยากให้รับผิดชอบโดยตรง และถ้าเกี่ยวข้องกับคดีเก่าก็จะมีการประสานงานกันกับดีเอสไอ นี่ไม่ใช่ไม่ไว้ใจการทำงานของดีเอสไอ แต่เป็นการช่วยกันทำงานเพื่อแก้ปัญหาของเกษตรกร ส่วนที่ดีเอสไอระบุว่าจะปิดคดีให้ได้ในเดือนเมษายน ได้ประสานการทำงานกันตลอด หลายคดีทำงานรวดเร็ว แต่คดีที่เป็นประเด็นใหญ่สร้างความเสียหายกับเกษตร ต้องทำงานใกล้ชิดอย่างละเอียด ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นว่าต้องมอบหมายให้ส่วนของสอบสวนกลางดำเนินคดี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าว
ส่วนกรณีการปลอมแปลงเอกสาร มีเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ เข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า หากมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ว่าระดับไหนก็ตามจะต้องลงโทษโดยไม่มีข้อละเว้น โดยได้สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว
เมื่อถามย้ำว่าเจอต้นตอใหญ่หรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ตนทำตามหน้าที่เพื่อตอบสังคมให้ได้ แม้จะเจออุปสรรคอย่างไร ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับแล้วให้เดินหน้าเต็มที่ พร้อมมอบหมายสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งปปง. ตำรวจสอบสวนกลาง ให้สนับสนุนการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ส่วนจะเอาผิดโค่นต้นตอรายใหญ่ได้หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่อยากใช้คำพูด ว่าโค่น แต่จะทำลายระบบวงจรอุบาทว์นี้ให้ได้ จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยเพิ่มความเข้มข้นในการทำงานมากขึ้น
ด้านนายบัญชา กล่าวว่า กรมประมงได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้าส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมายตั้งแต่ 1 ก.พ.67 ได้ระดมนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านเอกสารและมีหน่วยงานอื่น ๆ มาช่วย ซึ่งจากการตรวจสอบสามารถแจ้งความร้องทุกข์ที่สอบสวนกลาง 3 บริษัทที่เกี่ยวข้องคือ 1. บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด 2. บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และ3. ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริบูรณ์ เทรดดิ้ง
“เมื่อตรวจเอกสารนำเข้าของทั้ง 3 บริษัทพบความผิดปกติ 1 ใน 3 บริษัท ปลอมแปลงใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำนำมาประกอบขออนุญาตนำเข้าต่อด่านตรวจประมงชลบุรี ต่อมาได้รับการยืนยันจากประเทศต้นทางคือบราซิล ผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศว่าเป็นเอกสารปลอม กรมประมงจึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่แจ้งความดำเนินคดีผู้ต้องหาบริษัทที่เอ่ยมา 4 ข้อกล่าวหา ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร ใช้เอกสารปลอม แจ้งความเท็จ และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์” อธิบดีกรมประมง กล่าว
ด้านพล.ต.ต. เอกรักษ์ กล่าวถึงการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ว่า หากพบว่ามีความผิด นอกจากถูกดำเนินคดีทางอาญาแล้ว อีกส่วนหนึ่งคือความผิดมูลฐานข้อมูลทางการเงิน ที่จะไปดำเนินการทางการแพ่งต่อทุกคดี ดังนั้น นอกจากติดคุกแล้วต้องหมดตัวอีกด้วย
พ.อ. รวิรักษ์ กล่าวว่า ยังมีคดีลักษณะเดียวกันอีกกว่า 400 กว่าคดี จึงขอให้ติดตามตอนต่อไปว่าจะมีกรณีใหญ่ที่อยู่ระหว่างรอหลักฐานประกอบอีก 9 บริษัท หากมีความคืบหน้าจะแถลงข่าวให้ทราบต่อไป.-317.-สำนักข่าวไทย