กรุงเทพฯ 23 ม.ค. – ธ.ก.ส. ปล่อยกู้กระตุ้นเศรษฐกิจชนบท 3 ไตรมาสแรกปีบัญชี 66 กว่า 6 แสนล้านบาท มุ่งแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ยกระดับชุมชนสร้างรายได้ คาดสิ้นปีบัญชีNPLs ต่ำกว่าร้อยละ 5
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงาน 3 ไตรมาสแรกของปีบัญชี 2566 (1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2566) ธ.ก.ส. ปล่อยกู้เพื่อกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจในภาคชนบท 614,131 ล้านบาท โดยมียอดสินเชื่อคงค้าง 1.66 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 27,641 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 78.97% ของเป้าหมาย ยอดเงินฝากสะสม 1.82 ล้านล้านบาท สินทรัพย์ 2.24 ล้านล้านบาท หนี้สินรวม 2.09 ล้านล้านบาท และส่วนของเจ้าของ 1.55 แสนล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 6,197 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย ขณะที่ NPLs ร้อยละ 5.43 ลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าสิ้นปีบัญชีจะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 5 ตามเป้าหมาย
ในปีบัญชี 2566 ธ.ก.ส. มุ่งขับเคลื่อนภารกิจสู่การเป็นแกนกลางการเกษตร การสร้างการเติบโตใหม่ในกลุ่ม Smart Farmer Agri-Tech และ Startup ในการต่อยอดธุรกิจเกษตร การผลิต การดีไซน์ เพื่อสร้าง Value Added ไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง กระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และนำไปสู่การจัดการและแก้ไขปัญหาหนี้สินในชุมชน พัฒนาลูกค้าและชุมชนไปแล้ว 8,889 ราย (จากเป้าหมาย 6,080 ราย) การพัฒนาชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้หลัก BCG 181 ชุมชน พัฒนาความรู้ด้านการเงินและดิจิทัล โดยส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายไปแล้วจำนวน 130,000 ราย
ธ.ก.ส. ยังให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้สินและการฟื้นฟูอาชีพ ช่วยให้พี่น้องเกษตรกรก้าวพ้นกับดักหนี้ได้อย่างยั่งยืน เช่น มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่สอดคล้องกับศักยภาพและรายได้ในกลุ่มหนี้ที่มีปัญหา แบ่งการตัดชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยในสัดส่วน 50 : 50 สามารถลดหนี้กว่า 43,189 ล้านบาท มาตรการจ่ายต้น ปรับงวด โดยธนาคารจะปรับตารางชำระหนี้ใหม่ให้สอดคล้องกับรายได้และศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยมีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการแล้วกว่า 12,684 สัญญา
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระหนี้ผ่านโครงการชำระดีมีโชค ดอกเบี้ยและเงินต้น ชำระจริงทุก ๆ 1,000 บาท จะมอบเป็นสิทธิประโยชน์ในการชิงโชค 2 ชั้น ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ จำนวน 48,119 รางวัล มูลค่ารวมถึง 479 ล้านบาท โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 มิถุนายน 2567 จับรางวัลรวม 4 ครั้ง การให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการทั้งหนี้ในและนอกระบบ โดยเฉพาะการบริหารจัดการหนี้ทั้งระบบ เพื่อลดปัญหาหนี้เสียและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกค้า ทำให้การเป็นหนี้ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ผ่านโครงการหนี้นอกระบบ แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ กว่า 712,518 รายเป็นเงินกว่า 60,355 ล้านบาท
ด้านภารกิจตามนโยบายรัฐบาล ธ.ก.ส. สนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/2567 โดยจ่ายเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงไปแล้ว 50,532 ล้านบาท เกษตรกรได้รับประโยชน์ 4.35 ล้านราย มาตรการในการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย ที่มีหนี้รวมต้นคงค้างทุกสัญญา ณ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท ปัจจุบันมีลูกค้าแจ้งความประสงค์สอบทานสิทธิ์เข้าร่วมแล้วกว่า 1.68 ล้านราย การจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดลด PM 2.5 ไปแล้ว 7,412 ล้านบาท ช่วยเกษตรกร 1.2 แสนราย
ทั้งนี้ ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีบัญชี 2566 (1 มกราคม – 31 มีนาคม 2567) ธ.ก.ส. ยังมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดปัญหาการเกิดภาวะสินค้าเกษตรล้นตลาด การร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ในรูปแบบ 1U1C (1 University 1 Community) เพื่อพัฒนามาตรฐานในการผลิตสินค้าเกษตร การดีไซน์ ควบคู่กับการส่งเสริมวินัยทางการเงิน การยกระดับชุมชน ไปสู่การจำหน่ายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้เต็มรูปแบบผ่านโครงการ BAAC Carbon Credit อย่างเป็นทางการ ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยเริ่มต้นที่บ้านท่าลี่และบ้านแดง จังหวัดขอนแก่น เป็นแห่งแรก พร้อมขยายไปยังชุมชนอื่นเพิ่มเติม.-515-สำนักข่าวไทย