กรุงเทพ 27 พ.ย. – รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ร่วมกับผู้ว่าฯ กทม. ตรวจเข้มควันดำรถบรรทุก ณ ท่าเรือกรุงเทพ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการร่วมกันลงพื้นที่ตรวจควันดำรถบรรทุก เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อให้การดำเนินงานตาม “แผนป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากภาคคมนาคมขนส่ง” เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นายสุรพงษ์ เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ถือเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก เร่งรัดดำเนินการตาม “แผนป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากภาคคมนาคมขนส่ง” และบูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม วันนี้ (27 พ.ย.66) กรมการขนส่งทางบก และกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่ตรวจควันดำรถบรรทุก เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ณ ท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งเป็นจุดที่มีรถบรรทุกขนส่งสินค้าเข้า-ออก เป็นจำนวนมาก โดยได้มีการแนะนำผู้ขับรถบรรทุกให้ดูแลเครื่องยนต์ไม่ให้มีค่าควันดำเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะติดตามผลการดำเนินงานในการขับเคลื่อนแผนฯ ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 และรายงานผลไปที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ทุกวันที่ 15 และ 30 ของเดือน เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า สำหรับการลงพื้นที่ตรวจควันดำ ณ ท่าเรือกรุงเทพ ในวันนี้ สืบเนื่องจากเป็นบริเวณที่มีปริมาณรถบรรทุกสินค้าที่ผ่านเข้า-ออก เป็นจำนวนมาก โดยระหว่างเดือนตุลาคม 2565 – กันยายน 2566 มีจำนวนถึง 229,345 คัน ซึ่งส่งผลให้บริเวณเขตท่าเรือกรุงเทพ มีการปล่อยควันดำในปริมาณสูง ในกรณีตรวจพบค่าควันดำเกินกำหนด (เกินกว่า 30 เปอร์เซ็นต์) จะดำเนินการออกหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา ออกคำสั่งให้ไปชี้แจงข้อเท็จจริง และออกคำสั่งห้ามใช้รถ (พ่นห้ามใช้) โดยเจ้าของรถต้องนำรถเข้ารับการตรวจสภาพ ณ สำนักงานขนส่ง เมื่อผ่านการตรวจสภาพจึงสามารถลบข้อความห้ามใช้ออกและนำรถไปใช้งานได้ ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก ดำเนินการตรวจควันดำและฝุ่น PM 2.5 เชิงรุก โดยจัดผู้ตรวจการขนส่งทางบกเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ตรวจสอบค่า PM 2.5 ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่มีค่า PM 2.5 เกินมาตรฐาน อีกทั้งกรมการขนส่งทางบกได้จัดเจ้าหน้าที่กองตรวจการลงพื้นที่ตรวจสอบรถโดยสารประจำทางหมวด 1 ณ อู่รถ ขสมก. ทั้ง 8 เขตการเดินรถ จำนวน 21 แห่ง รวมถึงรถโดยสารประจำทาง ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร, เอกมัย, สายใต้) โดยกรมการขนส่งทางบกได้บูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ออกตรวจสอบค่าฝุ่น PM 2.5 ณ สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 233 แห่ง และสถานประกอบการ ได้แก่ แพลนท์ปูน บริเวณไซต์งานก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ. -สำนักข่าวไทย