กรุงเทพฯ 30 ต.ค. – บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่าตามที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติเห็นชอบหลักการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 โดยจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-10 บาทต่อวันใน 69 จังหวัด และไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 8 จังหวัด โดยค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่นี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 หากผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ขณะที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มองว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น จึงเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาท/วันเท่ากันทั่วประเทศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามมติคณะกรรมการค่าจ้างเฉลี่ยร้อยละ 1.8 น่าจะเป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยได้ส่วนหนึ่ง หลังจากไม่ได้ปรับมาเป็นระยะเวลา 3 ปี ขณะที่ค่าครองชีพที่วัดจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของผู้มีรายได้น้อยเดือนกันยายน 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 จากเดือนธันวาคม 2556 ที่มีการปรับขั้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ โดยจะส่งผลให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.7 ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนการพึ่งพิงแรงงานขั้นต่ำในสถานประกอบการว่ามีมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีลูกจ้างในภาคการผลิต ภาคก่อสร้าง และภาคการค้า/บริการ ประมาณ 16 ล้านคนทั่วประเทศ โดยร้อยละ 30.6 ของลูกจ้าง หรือประมาณ 4.9 ล้านคน ยังคงพึ่งพิงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หากค่าจ้างขั้นต่ำถูกปรับขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.8 หรือ 305.44 บาทต่อวัน จะทำให้ต้นทุนการผลิตในส่วนค่าแรงของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.7 อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 20 จะทำให้ต้นทุนค่าแรงของผู้ประกอบการในภาคการผลิต ภาคก่อสร้าง และภาคการค้า/การบริการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 6.4 , ร้อยละ 15.3 และร้อยละ 7.1 ตามลำดับ ซึ่งต้องติดตามว่าภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภคผ่านราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างไร.-สำนักข่าวไทย