กรุงเทพฯ 15 ก.ค. – ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 33.80-34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือน จับตานโยบายการเงิน ECB และ BOJ – ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา (11-14 ก.ค.) เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนสอดคล้องกับทิศทางเงินเยนที่ขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ก็เผชิญแรงเทขาย หลังคำแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้ส่งสัญญาณเชิงคุมเข้มมากนัก โดยระบุเพียงว่าเฟดจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยและปรับลดงบดุลอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับแรงหนุนจากปัจจัยทางเทคนิคช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะมีสถานะขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยตลอดทั้งสัปดาห์ก็ตาม โดยวันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม เงินบาทอยู่ที่ 33.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 34.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันศุกร์ก่อนหน้า
สำหรับสัปดาห์หน้า (17-21 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวเงินบาทที่ 33.80-34.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ทิศทางการปรับตัวของสินทรัพย์เสี่ยง ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐสำคัญ ประกอบด้วย ผลสำรวจกิจกรรมภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนกรกฎาคม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน การอนุญาตก่อสร้าง ดัชนีราคานำเข้าและส่งออกเดือนมิถุนายน ข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ ตลาดน่าจะรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมิถุนายนของจีนด้วยเช่นกัน
ส่วนดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงปลายสัปดาห์ จากแรงขายทำกำไรหุ้นธนาคาร โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,577.79 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.53 จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 19.42 จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 42,422.78 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 566.88 จุด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.42 จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่สัปดาห์หน้า (17-21 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,555 และ 1,565 จุด แนวต้านอยู่ที่ 1,590 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประกาศงบการเงินของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) สำหรับไตรมาส 2/2560 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐสำคัญ ได้แก่ ดัชนีการผลิตของเฟดฟิลาเดเฟียเดือนกรกฎาคมและจำนวนบ้านใหม่ที่กำลังก่อสร้างและที่จะก่อสร้างเดือนมิถุนายน ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ อาทิ ประกาศของธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่น และ CPI ของสหราชอาณาจักร.-สำนักข่าวไทย