กรุงเทพฯ 26 ต.ค. – DSI เปิดปฏิบัติการขยายผลปราบปรามขบวนการค้าเนื้อหมูเถื่อน พบความเชื่อมโยงหมูเถื่อนในตู้คอนเทนเนอร์กว่า 20 ตู้ ภายในท่าเรือแหลมฉบัง พบมีการเปิดเป็นที่ชำแหละเนื้อหมูกระจายให้กับกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ย่านดอนเมือง ล่าสุดพบมูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,150 ล้านบาท
วันนี้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พร้อมด้วยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม นำหมายศาลอาญาเข้าตรวจค้นอาคารสำนักงานภายในพื้นที่ซอยประชาอุทิศ เขตดอนเมือง 2 จุด โดยจุดแรกเป็นอาคารพาณิชย์ 2 คูหา 4 ชั้น บริเวณปากซอยวัดเทพนิมิตต์ จากการตรวจสอบพบว่าบริเวณด้านหน้าแสดงชื่อเป็นป้ายร้านจำหน่ายเนื้อวัว เนื้อสัตว์ และเครื่องในประเภทต่างๆ แช่แข็ง และที่ชั้นล่างเปิดเป็นร้านจำหน่ายเบียร์และไวน์ ส่วนที่บริเวณชั้นบนพบเปิดเป็นลักษณะห้องอาหารและสำนักงาน ที่บริเวณด้านหลังสังเกตเห็นว่ามีจุดที่ใช้ในการสไลด์เนื้อสัตว์แช่แข็งและตู้แช่อยู่ภายใน โดยในระหว่างเข้าตรวจค้นเจ้าหน้าที่ไม่พบเจ้าของอาคารอยู่ภายในตัวตึกจึงได้ประสานเจ้าของให้มาพบพนักงานสอบสวนของ DSI ภายใน 1 ชั่วโมง
จากนั้นได้ไปตรวจค้นยังจุดที่ 2 ภายในซอยประชาอุทิศ 13 ห่างจากจุดแรกประมาณ 100 เมตร ซึ่งจุดดังกล่าวเป็นอาคารพาณิชย์ 1 คูหา 4 ชั้น ลักษณะเป็นอาคารสำนักงานและมีตู้แช่เย็นเนื้อสัตว์อยู่ที่ด้านหลังอีกจำนวนหนึ่ง พบพนักงานของบริษัทอยู่ภายในจำนวนหนึ่งจึงได้นำกำลังของเจ้าหน้าที่ DSI และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กระทรวงยุติธรรมเข้าไปตรวจสอบเก็บพยานหลักฐานซึ่งเป็นเอกสารและเนื้อสัตว์แช่แข็งที่อยู่ภายในตัวอาคารทั้ง 2 แห่งเพื่อนำไปตรวจสอบว่ามีความเกี่ยวข้องกับคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังติดตามอยู่หรือไม่
การตรวจค้นในวันนี้เกี่ยวข้องกับคดีพิเศษที่มีการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูและเนื้อวัวเถื่อนเข้ามาที่ท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 141 ตู้ ซึ่งมีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เป็นผู้เข้าแจ้งความร้องเรียนให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ก่อนจะมีการร่วมเข้าตรวจสอบกับกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และทาง DSI กับตู้ทั้งหมดที่ตกค้างอยู่บนท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการนำเนื้อสุกรแช่แข็งทั้งหมดไปทำลายที่จังหวัดปราจีนบุรี
พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เปิดเผยว่า จากข้อมูลการสืบสวนสอบสวนพบว่าบริษัทที่ DSI เข้าตรวจค้นในวันนี้มีความเกี่ยวข้องกับตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 21 ตู้ จากทั้งหมด 141 ตู้ที่ DSI รับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งนอกเหนือจากการนำเข้าเนื้อหมูจำนวนดังกล่าวยังพบว่ามีขบวนการแอบลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนเข้ามาที่ท่าเรือแหลมฉบังตั้งแต่ปี 2564 อีก รวมแล้วกว่า 2,385 ตู้ หากเฉพาะบริษัทที่เข้าตรวจค้นวันนี้จะมีตู้คอนเทนเนอร์ที่สั่งเข้ามารวมกว่า 100 ตู้ โดยทาง DSI ได้ทำการตรวจสอบย้อนกลับไปยังข้อมูลของตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดแล้ว และจะรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานทั้งหมดมาใช้ประกอบในการดำเนินคดีกับ 141 ตู้ด้วย โดยตู้ดังกล่าวมีการสำแดงเท็จเป็นสินค้าแช่แข็งประเภทอื่นแต่ภายในเป็นเนื้อหมูและเนื้อสัตว์เถื่อนที่ลักลอบนำเข้าเข้ามาในพื้นที่ โดยเป็นการขยายผลจากการจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 6 คน ก่อนหน้านี้ ซึ่งมีการให้การพาดพิงมาถึงบริษัทดังกล่าว รวมถึงยังมีการตรวจสอบพยานหลักฐานและเส้นทางการเงินมายังบริษัทแห่งนี้ โดยพบว่ามีการติดต่อสั่งซื้อไปยังบริษัทชิปปิ้งนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวและยังมีการโอนจ่ายเงินค่าขนส่งและค่าสินค้าไปให้กับบริษัทชิปปิ้ง จึงรวบรวมพยานหลักฐานไปขอศาลออกหมายค้นและหมายจับมาดำเนินการในวันนี้
นอกจากนี้ยังพบว่าเส้นทางการเงิน หลังจากที่บริษัทสั่งซื้อโอนไปยัง shipping แล้วยังได้มีการโอนเงินไปยังเจ้าหน้าที่รัฐอีกส่วนหนึ่งโดยมีการติดต่อขอนำเข้าสำแดงสินค้ากับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานหนึ่ง บุคคลเดิมซ้ำ ๆ จนเชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐคนดังกล่าวอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการนี้
ส่วนกรณีที่มีหลายฝ่ายสงสัยว่าบริษัทดังกล่าวจะเป็นพื้นที่กระจายเนื้อหมู เนื้อวัวเถื่อนในพื้นที่ดอนเมืองด้วยหรือไม่ เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีร้านบุฟเฟ่ต์ ชาบู หมูกระทะ ปิ้งย่างเป็นจำนวนมาก อธิบดี DSI เปิดเผยว่า เรื่องดังข่าวมีความเป็นไปได้ เพราะพบว่าภายในบริเวณจุดตรวจค้นมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการสไลด์เนื้อสัตว์แช่แข็งและพบห้องเย็นอยู่ภายในจุดตรวจค้นทั้ง 2 จุดด้วย นอกจากนี้ยังพบเนื้อหมูต้องสงสัยจำนวน 20 กล่อง รวม 20 กิโลกรัม นำเข้ามาจากประเทศสเปน จึงได้ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์นำกลับไปตรวจสอบว่าเป็นเนื้อหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้าหรือมีที่มาจากประเทศใด หรือมีความเชื่อมโยงกับเนื้อหมูเถื่อนภายในตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกอายัดไว้ในท่าเรือแหลมฉบัง 141 ตู้หรือไม่
ทั้งนี้จากการตรวจสอบย้อนกลับที่พบการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนจำนวนมากกว่า 2,300 ตู้ ทำให้กรมศุลกากรสูญเสียการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากรตู้ละ 500,000 บาท รวมแล้วมากกว่า 1,150 ล้านบาท ซึ่งจะมีการเรียกร้องค่าเสียหายกับขบวนการที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง รวมถึงผู้ประกอบการที่รับซื้อเนื้อหมูเถื่อนจากบริษัทต่างๆ ซึ่งจะถูกดำเนินคดีในฐานความผิดเดียวกันและอาจต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายดังกล่าวที่เกิดขึ้น
ส่วนการทำลายเนื้อหมูเถื่อน ที่พบภายในท่าเรือแหลมฉบัง จำนวนมากกว่า 100 ตู้ ซึ่งขณะนี้มีการเผาทำลายไปแล้ว 1 ตู้ ฝังกบทำลายไปแล้ว 20 ตู้ จึงเหลือเนื้อหมูที่ต้องทำลายอีกกว่า 120 ตู้ โดยในวันนี้มีกำหนดจะต้องนำเนื้อหมูไปทำลายอีก 30 ตู้ ที่จังหวัดปราจีนบุรี แต่ทราบข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ว่าชาวบ้านในพื้นที่ต่อต้านการนำเนื้อหมูจำนวนดังกล่าวเข้ามาฝังกลบทำลาย เนื่องจากเกรงเรื่องโรคระบาดและกลิ่นเน่าเหม็นรบกวน ซึ่งทางกรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่และพิจารณาเรื่องการฝังกลบทำลายตามขั้นตอน นอกจากนี้ยังยอมรับว่าทาง DSI และคณะกรรมการทำลายเนื้อหมูเถื่อนได้ตั้งเป้าจะทำลายเนื้อหมูทั้งหมดภายในสิ้นเดือนนี้ แต่หากติดปัญหาดังกล่าวก็เชื่อว่าการฝังกลบทำลายน่าจะไม่ทันตามกรอบเวลาที่มีอยู่ จึงอาจพิจารณาขยายกรอบเวลาการทำลายออกไปเพื่อความสบายใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่. -สำนักข่าวไทย