รัฐสภา 3 ต.ค.-“วันนอร์” เล็งเปิดวิปรัฐบาลเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาแก้น้ำท่วม ช่วยปชช.เดือดร้อน ปัดตอบ “รองอ๋อง” ทำหน้าที่เหมาะสมหรือไม่ หลังมีเสียงวิจารณ์ เชื่อสส.รู้หน้าที่ทำงานร่วมกันได้ ส่วนงบฯ ปี 67 รอรัฐบาลส่งร่างพ.ร.บ.มา
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการประสานงาน (วิป)พรรคร่วมรัฐบาลเตรียมเสนอญัตติด่วนแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะประชาชนเดือดร้อนอยู่ เชื่อว่าจะเป็นเสนอด้วยวาจาเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยสภาจะได้นำปัญหาของแต่ละพื้นที่มาอภิปรายและจะได้ นำเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่อไป เพราะหากเสนอญัตติธรรมดาก็จะไม่ทันสถานการณ์ เพราะต้องตั้งคณะกรรมาธิการฯขึ้นมาอีก ต้องใช้เวลานาน
สำหรับถึงกรณีที่วิปรัฐบาลวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ไม่สง่างามของนายปดิพันธ์ สันติภาคา สส.พิษณุโลก รองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง ที่ถูกพรรคก้าวไกลขับออกนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนทราบว่าวิปรัฐบาลจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะต้องดูเรื่องนี้เพราะเกี่ยวข้องกับข้อบังคับของพรรค เพราะสภาฯไม่มีหน้าที่แก้ปัญหาข้อบังคับพรรค
ส่วนที่นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ระบุว่าสส.อาจไม่ให้ความร่วมมือในขณะที่นายปดิพัทธ์ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เรื่องนี้ประธานสภาฯจะบอกกับสส.อย่างไร นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของสส. ที่ต้องให้ความร่วมมือตามข้อบังคับของสภาฯเพราะสภาฯเป็นศูนย์รวมในการทำงานของสส.ที่จะต้องเสนอเรื่องไปถึงรัฐบาล และประชาชน หากไม่ได้รับความร่วมมือจากสส.งานก็จะไม่เดิน
ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังกล่าวถึงกรณีที่ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญที่พรรคก้าวไกลถูกตัดออกไปหนึ่งคณะ เนื่องจากนายปดิพัทธ์ ถูกตัดออก ว่า เรื่องนี้ได้มอบหมายให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่สองดำเนินการ คิดว่าจะดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย เนื่องจากมีหลักการอ้างอิงอยู่แล้ว เมื่อถามถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ต้องรอร่างพ.ร.บ.งบฯจากรัฐบาลส่งมาสภาฯ จากนั้นสภาจึงบรรจุในวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ก็จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบฯที่จะต้องดำเนินการ และเข้าสู่วาระที่ 3 ซึ่งสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 105 วันนับตั้งแต่วันที่รัฐบาลเสนอร่างมา แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้เวลาทั้งหมด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ แต่หากเกิน 105 วันเมื่อไหร่รัฐบาลสามารถเอาร่างที่เสนอต่อสภาฯไปใช้ได้เลย เพราะฉะนั้นสภาฯต้องทำงานภายในกรอบเวลาเท่านั้น .-สำนักข่าวไทย