กรุงเทพฯ 11 ส.ค.- อธิบดีกรมศุลกากร แถลงปิดคดีประมูลนาฬิการหรูปลอม ถือเป็นบทเรียนราคาแพงในประวัติศาสตร์ ดําเนินการฟ้องแพ่งตัวแทนสิทธิเรียกค่าเสียหายจํานวนมาก สำหรับการประมูลหลังจากนี้จะปรับปรุงแนวทางให้ชัดเจนและรัดกุมมากขึ้น
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงปิดคดีกรมศุลกากรประมูลขายนาฬิกาปลอม โดยยอมรับว่าความผิดพลาดครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ถือเป็นบทเรียนราคาแพง และยืนยันว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซํ้าอีก
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2566 กรมศุลกากรมีการเปิดประมูลขายนาฬิกาหรูรวม 14 เรือน ที่ตรวจยึดได้จากร้านค้าในห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านปทุมวัน จากนั้นจึงดําเนินการตามขั้นตอนในการเก็บรักษาและตรวจสอบทรัพย์จากตัวแทนสิทธิในประเทศไทยที่ระบุว่าเป็นของจริง โดยมีหนังสือเอกสารยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษระบุว่าเป็นของแท้ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ จึงนําไปเก็บไว้ในห้องมั่นคง โดยมีกล้องวงจรปิดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดูแลอย่างใกล้ชิด
จนกระทั่งเมื่อมีการประมูลเสร็จสิ้นเรียบร้อย ผู้ประมูลได้นาฬิกาที่ประมูลไปจํานวน 3 เรือน ราคารวมกว่า 4 ล้านบาท ไปตรวจสอบปรากฏว่าเป็นของปลอม จึงนํามาร้องต่อกรมศุลกากร และประสานขอตรวจสอบไปยังบริษัทตัวแทนสิทธิในประเทศไทยอีกครั้ง โดยครั้งนี้ทางตัวแทนสิทธิในประเทศไทยประสานไปยังบริษัทตัวแทนสิทธิแม่ในฮ่องกง และระบุว่ามีการโทรแจ้งกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ด้วยวาจาว่าพบนาฬิกาปลอม แต่ไม่มีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันกลับมา จึงทําให้ตัวแทนสิทธิในประเทศไทยกลับคําพูดว่าสรุปแล้วเป็นนาฬิกาปลอมทั้งหมด กรมศุลกากรจึงรับผิดชอบด้วยการคืนเงินเต็มจํานวน และยกเลิกการประมูลในครั้งนี้
นอกจากนี้ กรมศุลกากรตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อเท็จจริงตรวจสอบเรื่องดังกล่าว โดยลงโทษเจ้าหน้าที่ด้วยการว่ากล่าวตักเตือน ซึ่งมีการยอมรับว่ามีการเจรจาผ่านทางโทรศัพท์แจ้งว่านาฬิกาเป็นของปลอมจริง แต่ไม่มีการติดตามเอกสาร จนระยะเวลาล่วงเลยไปถึงการเปิดประมูล นอกจากนี้ ทางกรมศุลกากรยังมีการฟ้องคดีเพ่งกับบริษัทตัวแทนสิทธิ โดยส่งสํานวนไปยังอัยการแล้ว
ในส่วนเจ้าของร้านที่ถูกจับกุมพร้อมตรวจยึดทรัพยสินที่อ้างว่านาฬิกาแท้นั้น ทางกรมศุลกากรเตรียมประสานไปยัง สคบ.ตรวจสอบ ส่วนจะมีการเปลี่ยนตัวแทนสิทธิบริษัทในประเทศไทยหรือไม่ เป็นหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่จะดําเนินการต่อ ซึ่งกรมศุลกากรไม่มีสิทธิเลือก
สำหรับการประมูลหลังจากนี้จะมีการปรับปรุงแนวทางให้ชัดเจนและรัดกุมมากขึ้น และจะมีระยะเวลาในการเข้าตรวจสอบทรัพย์สินได้ภายใน 30 วัน โดยผู้ประมูลจะต้องนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบด้วย และหากจบการประมูลไปแล้วทางกรมศุลกากรจะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น
สำหรับไทม์ไลน์ของเหตุการณ์เป็นดังนี้
1) วันที่ 24 กรกฎาคม 2565 กรมศุลกากรตรวจยึดนาฬิกาดังกล่าว และประสานงานไปยังตัวแทนสิทธิในประเทศไทย เพื่อดำเนินการตรวจสอบของกลางในคดี คือ นาฬิกาหรู จำนวน 13 เรือน
2) วันที่ 17 สิงหาคม 2565 ตัวแทนสิทธิเข้าตรวจสอบของกลาง ณ กรมศุลกากร และต่อมาวันที่ 8 กันยายน 2565 ตัวแทนสิทธิแจ้งผลการตรวจสอบเป็นหนังสือต่อกรมศุลกากรว่า นาฬิกาหรูดังกล่าวเป็นของแท้
3) หน่วยงานผู้รับผิดชอบในการจำหน่ายของกลางของกรมศุลกากรตรวจสอบเอกสารของแฟ้มคดีว่ามีความครบถ้วนถูกต้องแล้ว โดยยึดหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบจากตัวแทนสิทธิเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 เป็นเอกสารหลักฐาน และในวันที่ 18 เมษายน 2566 กรมศุลกากรอนุมัติให้มีการระงับคดี และดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการขออนุมัติจำหน่ายของกลาง โดยได้ทำการขายทอดตลาดนาฬิกาหรูดังกล่าว ในระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2566 ซึ่งผู้ประมูลได้มาติดต่อชำระเงินค่าของและรับมอบนาฬิกาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566
4) วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ผู้ประมูลได้มีความประสงค์ขอคืนของกลางที่ประมูลได้ และแจ้งว่านาฬิกาดังกล่าวเป็นของปลอม กรมศุลกากรจึงประสานตัวแทนสิทธิเพื่อตรวจสอบนาฬิกาที่จะคืนร่วมกันที่เป็นนาฬิกาชุดเดียวกันกับที่ตรวจยึด และตัวแทนสิทธิได้ยืนยันเป็นหนังสือว่านาฬิกาดังกล่าวเป็นของละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ของปลอม) กรมศุลกากรจึงยกเลิกการขายทอดตลาดนาฬิกาหรูแฟ้มคดีดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งคืนเงินที่ชำระทั้งจำนวน หรือเงินมัดจำให้แก่ผู้ประมูลทั้งหมด.-สำนักข่าวไทย