กรุงเทพฯ 29 มิ.ย.-อธิบดีกรมอุตุฯ เผยได้หากลไกการเกิดแผ่นดินไหว จ.พิษณุโลก เวลา 00.17 น. คืนที่ผ่านมา พบเกิดจากแนวที่มีทิศทางการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ ตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่อยู่ทางตะวันออกของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว คาดเกิดบนรอยเลื่อนที่ยังไม่ได้สำรวจ
นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวถึงเหตุแผ่นดินไหวซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเวลา 00.17 น. เมื่อคืนที่ผ่านมา (29 มิ.ย.) โดยกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวรายงานว่า จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ตำบลไผ่ล้อม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลกซึ่งห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ 30 กิโลเมตรและห่างจากตัวเมืองพิจิตรประมาณ 15 กิโลเมตร ขนาด 45 ความลึก 5 กิโลเมตร ได้รับแจ้งรู้สึกสั่นไหวเป็นบริเวณกว้างในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร และนครสวรรค์ แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหาย
ทั้งนี้กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาสามารถหากลไกการเกิดแผ่นดินไหวได้พบว่า แผ่นดินไหวเกิดจากแนวที่มีทิศทางการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งวางตัวตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่อยู่ทางตะวันออกของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว อีกทั้งจุดศูนย์กลางไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อนมีพลังที่สำรวจโดยกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งอาจเป็นรอยเลื่อนที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ (hidden fault)
สำหรับแผ่นดินไหวครั้งนี้ซึ่งมีขนาด 4.5 เป็นขนาดที่รุนแรงที่สุดที่เคยเกิดบริเวณจังหวัดพิษณุโลก โดยสถิติที่บันทึกไว้ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 ขนาด 2.8 ที่ระดับความลึก 2 กิโลเมตร หลังจากนั้นเกิดในปี 2559 2561 2562 ปีละ 1 ครั้ง ต่อมาในปี 2564 เกิด 2 ครั้ง โดยระดับความรุนแรงอยู่ระหว่าง 1.9-2.4
สำหรับภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ การป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีและความรู้ในปัจจุบันจำเป็นต้องการข้อมูลความสั่นสะเทือนของพื้นดินที่ถูกต้องจากระบบตรวจวัดที่มีมาตรฐาน โดยกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ทำหน้าที่ในการตรวจและวิเคราะห์แผ่นดินไหวทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีเครือข่ายสถานีตรวจแผ่นดินไหวแบบอัตโนมัติ สถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน สถานีวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และสถานีวัดระดับน้ำทะเล ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศไทยเพื่อตรวจวัด เฝ้าระวัง และให้บริการข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องภัยแผ่นดินไหวในประเทศอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ตลอดจนแจ้งเตือนภัยให้กับพื้นที่เสียงภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเล
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาจะติดตามและรายงานสถานการณ์ต่อไป ขอให้ประชาชนติดตามประกาศอย่างใกล้ชิดได้ทางเว็บไซต์กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา earthquake.tmd.go.th เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ EarthquakeTMD โทรศัพท์หมายเลข 0 2366 9410, 0 2399 0969, 0 2399 4547 และสายด่วน 1182 ตลอด 24 ชั่วโมง อีกช่องทางหนึ่งคือ แอปพลิเคชันไลน์ซึ่งสามารถเพิ่มเพื่อนโดยแอดไลน์ไอดี : @linealert บัญชีแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรงหรือสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อเกาะติดสถานการณ์อย่างรู้เท่าทัน ทั่วถึง และทันเวลา.-สำนักข่าวไทย