รัฐสภา 15 มิ.ย.- สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ขณะที่ ประธาน กรธ.ยืนยัน การเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่หากจะให้ผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อทั้งหมด สนช.ต้องส่งให้ศาล รธน.ตีความ เพื่อเป็นบรรทัดฐานขององค์กรอิสระอื่น
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (15 มิ.ย.) พิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้ ผู้ร่างคือ คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน โดย กรธ.แก้ไขในสาระสำคัญ 2-3 ประการ คือ พยายามเปลี่ยนบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดิน จากที่เป็นผู้ตรวจจับและรายงานความผิด เป็นการให้คำปรึกษาหารือ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติได้ถูกต้อง ทั้งในแง่กฎหมายและความเที่ยงธรรม
นอกจากนี้ กรธ.ได้กำหนดว่า กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินพบว่า มีการกระทำที่ไม่เป็นตามกฎหมาย หรือกฎหมายทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ก็ให้ปรึกษากับหน่วยงานก่อน เมื่อตกลงกันได้ จึงให้คำแนะนำให้หน่วยงานนั้นปฏิบัติ แต่หากแนะนำแล้ว หน่วยงานนั้นยังเพิกเฉย ก็จะมีบทลงโทษ เพราะถือว่าได้มีการปรึกษาหารือกันมาก่อนแล้ว” นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย กล่าวว่า กรธ.ยังพยายามให้หลีกเลี่ยงการตั้งคณะบุคคลมาทำงานแทนผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับการสรรหาด้วยวิธีการเข้มงวด ซึ่งจะเป็นคนที่เป็นผู้ใหญ่ ไว้วางใจได้ แต่หากมอบหมายให้ผู้แทนทำงานแทนก็จะเกิดปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิก สนช.อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการเซ็ตซีโร่ พร้อมยืนยันตามหลักการเดิมที่เคยคัดค้านไว้ คือ การเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระที่มีคุณสมบัติครบ ถือว่าไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ไม่ได้เพิ่มบทบาทหน้าที่ให้มากขึ้น อีกทั้ง การสรรหาเพิ่ม 1 คน ควรสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติที่ครบถ้วน ตรงตามความต้องการที่จะมาทำหน้าที่ตรวจสอบ
นายมีชัย ชี้แจงว่า การดำเนินการเรื่องคุณสมบัติของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มีทางเลือก 3 แนวทาง คือ การรีเซ็ตใหม่ทั้งหมด หรือ หากใครคุณสมบัติครบ ให้อยู่ดำรงตำแหน่งต่อไป และอีกหนึ่งทางเลือก คือ การให้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อทั้งหมด ซึ่ง 2 ทางเลือกแรก มั่นใจว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ทางเลือกสุดท้าย หมิ่นเหม่ที่จะขัดรัฐธรรมนูญ
“หาก สนช.เห็นว่า จะให้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อทั้งหมด ก็ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย เพื่อที่ กรธ.จะนำไปเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาองค์กรอื่นต่อไป” นายมีชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายมีชัย เชื่อว่า การเปิดโอกาสให้สรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างกว้างขวาง น่าจะได้คนที่มีคุณภาพ และการให้กรรมการสรรหาเป็นผู้พิจารณาบุคคลที่มีความเหมาะสม แทนที่จะกำหนดว่าบุคคลที่เข้ารับการสรรหาต้องผ่านการทำงานทางสาธารณะ จะเป็นกรอบที่กว้างเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคต
จากนั้น ที่ประชุม สนช.มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยคะแนน 217 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ออกเสียง 1 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา 19 คน กรอบการทำงาน 45 วัน แปรญัตติ 7 วัน .- สำนักข่าวไทย