22 พ.ค. – ปตท.เร่งจบดีลพันธมิตรปีนี้ ร่วมลงทุนเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพอย่างยั่งยืน หรือ SAF พร้อมดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในเครื่องบิน และความร่วมมือเศรษฐกิจหมุนเวียน
นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า กลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของ ปตท.มุ่งเน้นรองรับสภาวการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สายงานกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ผนึกพลังร่วมภายในกลุ่ม กำหนดแผนธุรกิจใหม่ภายใต้ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งธุรกิจใหม่ในปี 65 มีสัดส่วนสร้างกำไร 15% ของอีบิด้า โดยทางกลุ่มฯ ตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 30% ในปี 73 เช่น การก้าวเข้าสู่ธุรกิจด้านการบริหารจัดการน้ำ ในภาคตะวันออก, แผนธุรกิจเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero Emissions ของกลุ่ม ปตท., การเตรียมการเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพอย่างยั่งยืน หรือ SAF ผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในเครื่องบิน ผลักดันความร่วมมือเศรษฐกิจหมุนเวียน และการลงทุนในธุรกิจที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ เป็นต้น
โดยกำหนดเป้าหมายในปีนี้จะได้ข้อสรุปเรื่องการร่วมทุนเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย การร่วมทุนของบริษัทในกลุ่ม ปตท. และพันธมิตรจากต่างประเทศ ที่จะต้องช่วยจัดหานำเข้าน้ำมันพืชใช้แล้ว รวมทั้งกากน้ำมันปาล์ม เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอในการผลิตและป้อนแก่ธุรกิจสายการบิน ซึ่งสหภาพยุโรปมีข้อบังคับใช้ เพื่อลดผลกระทบของก๊าซคาร์บอนฯ จากอุตสาหกรรมการบินที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้สายการบินต้องเพิ่มสัดส่วนของส่วนผสมระหว่างน้ำมันเชื้อเพลิง SAF กับน้ำมันเชื้อเพลิง Jet Feul ร้อยละ 2 ในปี 2568 และเพิ่มสัดส่วนไปเรื่อยๆ จนปี 2593 เพิ่มเป็นร้อยละ 63 หากฝ่าฝืนจะมีการเรียกเก็บค่าปรับและอื่นๆ
กลุ่มธุรกิจขั้นปลาย ปตท.ยังดำเนินกลยุทธ์การดำเนินงานผ่านความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจเดิม และเป็นฐานต่อยอดธุรกิจใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ที่สอดคล้องกับการเติบโตตามกระแสโลก โดยสามารถเชื่อมโยงและเติมเต็ม Value Chain ธุรกิจใหม่ของกลุ่ม ปตท. รวมถึงเพิ่มสัดส่วนธุรกิจคาร์บอนต่ำและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยเสริมการบริหารจัดการเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจให้แก่ภาครัฐ อาทิ การใช้ระบบดิจิทัลมาวางแผนการผลิตน้ำมันในประเทศด้วยระบบดิจิทัล ผ่าน Hydrocarbon Value Chain Collaboration Center รวมถึงเครื่องมือในการบริหารจัดการทางเลือกใช้เชื้อเพลิงของประเทศในภาวะราคาพลังงาน ผันผวน เป็นต้น. – สำนักข่าวไทย