กรุงเทพฯ 9 มิ.ย. – ธนาคารออมสินร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พัฒนาสินค้าชุมชน หวังขยายความร่วมมือมหาลัยอีกหลายแห่ง พร้อมขยับเป้าหมายสินเชื่อทั้งปีโตร้อยละ 5 หลังยอดสินเชื่อใหม่ 5 เดือนแรกขยายตัวเกินเป้าหมาย
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการออมสิน-ธรรมศาสตร์โมเดล เพื่อยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการนำนักศึกษาระดับปริญญาตรี-โท 64 คน ร่วมพัฒนาผู้ประกอบการโอทอป 6 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ความรู้ทางธุรกิจมาประยุกต์ใช้วางแผนและแก้ปัญหา จึงพร้อมขยายความร่วมมือดังกล่าวไปยังมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมนักศึกษาเป็นเจ้าของกิจการช่วยพัฒนาชุมชนของตนเอง เพื่อเติมแหล่งทุนให้กับคนรุ่นใหม่หัวคิดทันสมัย หากผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพเติมแนวคิดนวัตกรรมทั้งด้านผลผลิตสินค้า ขั้นตอนการผลิต และช่องทางการตลาด ออมสินให้พิจารณาให้สินเชื่อ 10 ล้านบาทต่อราย คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ช่วง 2 ปีแรก เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่เริ่มกิจการ 3 ปีแรก
สำหรับกลุ่มโอทอป-วิสาหกิจชุมชนที่ธนาคารฯ คัดเลือกเข้าร่วมโครงการทั้ง 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมหาสวัสดิ์ และกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากฟักข้าว อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม, กลุ่มอาชีพแปรรูปข้าวสาร และกลุ่มหัตถกรรมชุมชนตำบลพงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี, กลุ่มแม่บ้านบ้านท่ากระดาน หมู่ 2 และกลุ่มขนมบ้านทุ่งนา อ.ศรีสวัสดิ์ และพร้อมพัฒนาความรู้ไปยังชุมชนอื่นเพิ่ม
นายพิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากนำนักศึกษาเข้าไปเติมความรู้ให้กับชุมชน ทั้งการบรรจุภัณฑ์ การพัฒนากระบวนการผลิต การทำแผนการเงิน การจัดทำบัญชี วางแผนการตลาด เมื่อทดลองตลอดช่วง 5 เดือนบางกลุ่มสร้างรายได้เพิ่มกว่าร้อยละ 340 ทำให้รู้จักคำนวณต้นทุน การตั้งราคาสินค้าที่เป็นธรรมและสร้างรายได้สูงขึ้น เมื่อนักศึกษาสัมผัสการผลิตจริง จึงเกิดประสบการณ์ความรู้สามารถปรับไปสู่การตั้งกิจการด้วยตนเองได้ เพื่อนำความรู้ด้านนวัตกรรมปรับใช้กับชุมชนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
นายชาติชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ยอดปล่อยสินเชื่อรวม 5 เดือนแรก ปล่อยสินเชื่อใหม่ 60,000-70,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3 เกินเป้าหมายทั้งปี จากสินเชื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ 40,000 ล้านบาท เอสเอ็มอี 80,000 ล้านบาท รายย่อย 1.2 ล้านล้านบาท เช่น ธนาคารประชาชน สินเชื่อบ้าน ร้านค้ารายย่อย ที่เหลือเป็นสินเชื่อภาครัฐ จึงมั่นใจว่าทั้งปียอดสินเชื่อใหม่จะขยายตัวร้อยละ 5 วงเงินสินเชื่อใหม่ประมาณ 100,000 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น จึงต้องการแหล่งทุน แต่สัดส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีไม่ให้เกินร้อยละ 10 ของพอร์ตทั้งหมด เพื่อเน้นดูแลรายย่อยให้ครอบคลุมมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย