ภูมิภาค 8 มิ.ย. – หลังสำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด จากระดับน้ำเจ้าพระยาอาจเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม
วันนี้แม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย กรมชลประทานได้ผันน้ำเข้าระบบชลประทานเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก เพิ่มขึ้นอีก 5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา อ.เมืองชัยนาท ลดลงจากเมื่อวาน 8 เซนติเมตร แต่ยังมีบางพื้นที่ เช่น อ.หนองมะโมง ซึ่งเป็นพื้นที่ทางไหลผ่านของน้ำ และมีเพียงคันดินที่เกษตรกรทำกั้นน้ำท่วมไร่นาเอาไว้ ทำให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างล่าช้า น้ำจึงเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน จำนวน 10 หลังคาเรือน และพื้นที่การเกษตรกว่า 2,500 ไร่ ได้รับความเสียหาย ส่วนสัตว์เลี้ยง โค-กระบือ ต้องนอนแช่อยู่ในน้ำที่ท่วมขัง
ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น ต้องสั่งระบายน้ำทั้งในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ระบายน้ำวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ไปจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน เนื่องจากมีน้ำไหลเข้าเกินร้อยละ 50 ของความจุ ซึ่งการระบายน้ำดังกล่าวนี้หาก ครบกำหนดแล้ว จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง
ปริมาณฝนที่ตกหนักสะสมอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับน้ำระบายออกไม่ทัน ทำให้น้ำป่าไหลทะลักเข้าท่วมแปลงนา ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร กว่า 2,000 ไร่ ชลประทานเร่งนำเครื่องสูบน้ำติดตั้งริมลำคลองสาขา สูบระบายน้ำออกเพื่อลดความเสียหายให้กับชาวนา
ลงไปทางภาคใต้ นายวิโรจน์ สุวรรณวงศ์ นายอำเภอตะกั่วป่า จ.พังงา สั่งการให้ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องถิ่น และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหารับมือภัยพิบัติจากภาวะคลื่นลมแรง น้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา โดยเฉพาะที่บ้านปากเกาะ หมู่ที่ 3 หลังถุงบิ๊กแบ็กขนาดใหญ่ที่บรรจุทรายตั้งเป็นกำแพงกันคลื่นชุดแรกกว่า 500 ลูก เสียหายทั้งหมด โดยได้เพิ่มถุงบิ๊กแบ็กใหม่บรรจุทรายใหม่อีกกว่า 500 ถุง สร้างเป็นกำแพงกันแนวคลื่น ระยะทางกว่า 300 เมตร ขณะที่คลื่นลมในทะเลโดยเฉพาะที่ฝั่งบ้านเกาะคอเขา และบ้านน้ำเค็ม ยังมีความรุนแรง ซัดน้ำทะเลสูงผ่านแนวกำแพงกันคลื่นหลายจุด
นายอังกูร วราภรณ์พิพัฒน์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะคอเขา เปิดเผยว่า ได้จัดเวรยามเฝ้าระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำทะเลหนุนสูง และคลื่นลมแรงตลอด 24 ชั่วโมง ปัจจุบันพบว่าพื้นดิน 3 ใน 4 ส่วนถูกคลื่นซัดจมทะเลไปหมดแล้ว
นายสุดจิต ลิ่มพาณิชย์ กำนันตำบลเกาะคอเขา เปิดเผยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือแนวถนนด้านทิศตะวันตกของบ้านปากเกาะ หมู่ที่ 3 ซึ่งถูกคลื่นซัดจนเริ่มทรุดตัว หากถนนขาด น้ำทะเลจะไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในหมู่ที่ 3 ทั้งหมด ต้องจมทะเลแน่นอน ขณะที่จุดอื่นๆ โดยรอบเกาะคอเขาขณะนี้ถูกน้ำกัดเซาะเสียหายอย่างหนักเช่นกัน. – สำนักข่าวไทย