ไบเทค 7 มิ.ย. – รมว.พลังงานยืนยันไทยไม่ได้รับผลกระทบจากตะวันออกกลางตัดสัมพันธ์การทูตกาตาร์ พร้อมเร่งหาทางออกเอส 1 หยุดผลิตพื้นที่ ส.ป.ก.
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบขาดแคลนพลังงาน จากกรณีความขัดแย้งซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และอียิปต์ ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ โดยจากการติดตามปัญหาจาก บมจ.ปตท. ผู้นำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี สัญญาระยะยาวจากกาตาร์ 2 ล้านตันต่อปี ทางบริษัทผู้ส่งออกของกาตาร์ยืนยันเรือขนส่งแอลเอ็นจียังขนส่งได้ตามปกติ จึงไม่มีผลกระทบใด ๆ อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงติดตามสถานการณ์ โดยเห็นว่าไม่น่าจะมีผลกระทบเช่นกัน เพราะไม่ใช่ภาวะสงคราม และเชื่อว่าจะมีกลุ่มประเทศที่ตัดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันมีการเจรจาตกลงกันได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีมีผลกระทบขึ้นมาก็จะไม่กระทบประเทศไทย เพราะในตลาดมีแอลเอ็นจีจำนวนมากสามารถจัดหาซื้อแอลเอ็นจีจากตลาดจรได้ และราคาตลาดจรอาจจะถูกกว่าราคาสัญญาระยะยาวได้ในช่วงนี้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อค่าไฟฟ้า
ส่วนกรณีแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ต้องหยุดผลิตรวม 16,000 บาร์เรลต่อวันนั้น พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งหาทางออกดูกฎหมายทุกด้านและคาดว่าจะมีบทสรุปภายใน 1-2 วันนี้ ส่วนจะใช้คำสั่ง คสช.มาตรา 44 ร่วมแก้ปัญหาหรือไม่นั้น ยังไม่ขอระบุ ซึ่งการหยุดผลิตก็กระทบต่อกำลังผลิตปิโตรเลียมของประเทศและรายได้ภาครัฐ
ด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ประเทศไทยเชื่อว่าปัญหากาตาร์จะคลี่คลายในที่สุด อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ เนื่องจากไม่ได้ซื้อน้ำมันจากกาตาร์ ส่วนการซื้อก๊าซฯ สัญญาระยะยาวจากกาตาร์ทาง ปตท.เตรียมแผนหาทางออก ซึ่งจะไม่กระทบต่อการผลิตไฟฟ้าแน่นอน
ทั้งนี้ พล.อ.อนันตพร กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “ASEAN SUSTAINABLE ENERGY WEEK 2017” แสดงเทคโนโลยีและการประชุมพลังงานทดแทน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงพลังงานระบุว่าเร่งแผนดำเนินนโยบาย 4.0 ซึ่งจะนำไปสู่การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาการใช้พลังงานของประเทศไม่ใช่พึ่งพาพลังงานฟอสซิลเพียงอย่างเดียว แต่จะมุ่งเน้นพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น .-สำนักข่าวไทย