กรุงเทพฯ 27 เม.ย.-ยอดใช้น้ำมันไตรมาส 1/66 โตร้อยละ 5.6 คาดครึ่งหลังโตตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ธพ.ย้ำทำแผนน้ำมัน รับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และจัดการระบบท่อแบบ Single Operator คาด เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศกว่า 200,000 ล้านบาท
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยภาพ รวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไตรมาส 1 ปี 2566 (เดือนมกราคม – มีนาคม) เฉลี่ยอยู่ที่ 160.85 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.6 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว และคาดว่าในครึ่งปีหลังการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอย่างเห็นได้ชัด
ยอดใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.78 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 76.40 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เป็นผลจากมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตร่วมกับกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตรึงราคาให้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร
ส่วนการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 14.04 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 95.2 ตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของหลายประเทศ การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.02 ล้านกก./วัน ลดลง ร้อยละ 2.6 โดยส่วนใหญ่มาจากการใช้ลดลงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีร้อยละ 10.7
อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานคาดการณ์ภาพรวมการใช้น้ำมันครึ่งปีหลัง การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปิดตัวของธุรกิจใหม่ที่ต้องพึ่งพาการขนส่งและการใช้พลังงานปริมาณมาก คาดกลุ่มเบนซินปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 น้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (JET A1) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.2 น้ำมันเตาปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และ LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0
“จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กรมคาดว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย ปี 2566ยกเว้นน้ำมันJET A1 จะกลับมาใกล้เคียงปี 2562ก่อนเกิดโควิด-19 ส่วนน้ำมันเครื่องบินยังไม่กลับมาเท่าเดิมก็เนื่องจากสายการบินอยู่ระหว่างการฟื้นฟู” นางสาวนันธิกา กล่าว
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในอนาคตของกรมธุรกิจพลังงานในการเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ได้คาดการณ์สถานการณ์ที่จะกระทบอุตสาหกรรมด้านน้ำมัน และจัดทำร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ปี2566-2580 ให้สอดรับกับแผนพลังงานงานชาติร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน อยู่ระหว่างเตรียมรับฟังความเห็นประชาชน ทั้งนี้ Oil Plan มีสาระสำคัญครอบคลุม 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. ด้านความมั่นคง มุ่งศึกษาปรับปรุงอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
2. ด้านการบริหารจัดการชนิดน้ำมันในภาคขนส่ง ลดชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันและส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม
3. ด้านการส่งเสริมการใช้และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ และส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
4. ด้านการส่งเสริมธุรกิจใหม่ (New Businesses) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนผู้ประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในการลงทุนธุรกิจใหม่
กรมธุรกิจพลังงานคาดว่าการขับเคลื่อนแผน Oil Plan จะเกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งทางตรงและทางอ้อมคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านบาท และจะดำเนินการส่งเสริมและผลักดันให้ การขนส่งน้ำมันทางท่อให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ โดยจะเร่งพิจารณาการเชื่อมท่อขนส่งให้เป็นโครงข่าย ศึกษารูปแบบบริหารจัดการระบบท่อแบบ Single Operator ตลอดจนโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งและจำหน่ายน้ำมันไปยังประเทศ CLMV นอกจากนี้ กรมยังได้ร่วมมือกับ 3 การไฟฟ้า สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน และสถานีบริการทั่วประเทศ ส่งเสริมการติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้าสาธารณะในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเร่งจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นทิศทางเดียวกันและพัฒนาการให้บริการให้เป็นไปอย่างสะดวก
สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ปี 2566-2580 ที่คาด เกิดผลประโยชน์ว่า 200,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น ด้านเศรษฐกิจ 34,900 ล้านบาท (จากการลงทุนในธุรกิจใหม่ของกลุ่มโรงกลั่นปิโตรเลียม ในระยะ 5 ปี) และด้านสังคม 170,000 ล้านบาท (รายได้เกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน และกลุ่มแปรรูปผลผลิต (ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง) .-สำนักข่าวไทย