ศูนย์ราชการฯ 11 เม.ย.- ครบรอบ 23 ปี สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยงานช่วยประชาชนแก้ปัญหาจากการร้องเรียน 55,478 เรื่อง จาก 58,050 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 2,572 เรื่อง เผย 3 หน่วยงานถูกร้องเรียนมากที่สุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติถูกร้อง กรมการปกครอง กรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น เน้นแก้ปัญหาด้วยความเป็นธรรม
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และรองศาสตราจารย์อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สักการะพระพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ และสักการะพระบรมรูป รัชกาลที่ 9 และทำบุญครบรอบ 23 ปี วันสถาปนาสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิ
จากนั้นเป็นพิธีสงฆ์ โดยพระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นประธานพิธีสงฆ์ พร้อมการบรรยายธรรม หัวข้อ “ความสุขในการทำงาน” เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติหน้าที่แก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่
นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่าวันที่ 12 เมษายน เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินครบรอบ 23 ปี ที่องค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน มุ่งมั่นทำงานด้วยความเป็นอิสระ เป็นกลางและเป็นธรรม ขับเคลื่อนสังคมไทยให้ตั้งอยู่บนหลักความสุจริต หลักสิทธิมนุษยชน และหลักธรรมาภิบาล เพื่อความเจริญรุ่งเรือง และความผาสุกของประชาชนโดยรวม รวมทั้งการยกระดับการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินไทยสู่สากล โดยตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน ได้ปฏิบัติหน้าที่แก้ไขปัญหาประชาชนและรวม 55,478 เรื่อง จากทั้งหมด 58,050 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 2,572 เรื่อง
โดยหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 12,276 เรื่อง กรมการปกครอง จำนวน 5,068 เรื่อง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 3,548 เรื่อง สาเหตุที่หน่วยงานดังกล่าวขึ้นสิถิติอันดับต้น เนื่องจากเป็นหน่วยงานขั้นพื้นฐานในการให้บริการประชาชนด้วยความใกล้ชิดประชาชน จึงมีผู้ใช้บริการจำนวนมากปัญหาต่าง ๆ ตามมาทั้งความไม่เข้าใจกันในการสื่อสาร รวมถึงกฎ ระเบียบ ขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ
อย่างไรก็ตามเพื่อแก้ไขปัญหาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพผู้ตรวจการแผ่นดินยึดหลักการทำงานแบบกัลยาณมิตรมุ่งสร้างความเข้าใจไกล่เกลี่ยแบบสันติวิธี เพราะเราไม่ใช่คู่กรณีกับหน่วยงานรัฐ บางเรื่องแก้ไขง่ายรวดเร็ว บางเรื่องยุ่งยากซับซ้อนมีผลกระทบในวงกว้างจำเป็นต้องแก้ไขในเชิงระบบและตรงจุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเดิม ๆ ขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้น ภารกิจของผู้ตรวจการแผ่นดินจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมจากสาธารณชน
นอกจากการทำงานด้านสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ผู้ตรวจการแผ่นดินยังสร้างช่องทางใหม่ ๆ เพื่อการเข้าถึงสิทธิการร้องเรียนเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายของประชาชน เช่น Mobile Application ผู้ตรวจการแผ่นดิน สายด่วน 1676 หรือผ่านหน่วยงานในพื้นที่อย่างศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะเชื่อมต่อข้อมูลการร้องเรียนร้องทุกข์กับ “ระบบความร่วมมือส่งเรื่องร้องเรียน (OCC) ” ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในบทบาท หน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินให้กับสาธารณชน .-สำนักข่าวไทย