กรุงเทพฯ 27 มี.ค.-สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชวนทำความรู้จัก ตราสาร Basel III Additional Tier 1 (Basel III AT1) ระบุ ในไทยจะไม่เกิดกรณีที่ผู้ถือตราสาร Basel III AT1 จะได้รับความเสียหายมากกว่าผู้ถือหุ้น
ฝ่ายตราสารหนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า จากวิกฤตธนาคาร Credit Suisse และการตัดหนี้สูญของตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ ตราสาร Basel III Additional Tier 1 (Basel III AT1)* ของธนาคาร ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถาบันการเงินในวงกว้าง ก.ล.ต. จึงชวนมาทำความรู้จัก “ตราสาร Basel III AT1” ในไทย ซึ่ง ก.ล.ต. ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทและพฤติกรรมของผู้ลงทุนไทย
“ตราสาร Basel III AT1” เป็นตราสารที่ใช้ในการระดมทุนของธนาคาร โดยตราสารดังกล่าวจะสามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารพาณิชย์ได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์มีช่องทางในการสร้างความเข้มแข็งของเงินทุนกองทุนเพิ่มขึ้น สำหรับกรณีธนาคาร Credit Suisse ซึ่งประสบปัญหาด้านสถานะทางการเงิน โดยในปี 2565 ธนาคารขาดทุนสุทธิที่เกือบ 7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีลูกค้าได้ถอนเงินไปกว่า 1.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวของธนาคาร ทางรัฐบาลและธนาคารกลางของสวิตเซอร์แลนด์จึงได้มีการตัดสินใจเข้าช่วยเหลือ Credit Suisse โดยธนาคารกลางได้ให้กู้ยืมเงิน 5.37 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และช่วยเจรจาให้ UBS เข้ามาซื้อ (มูลค่าประมาณ 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) การเข้ามาแทรกแซงของรัฐบาลและธนาคารกลางได้ทำให้เข้าเงื่อนไขที่จะตัดหนี้ในส่วนของผู้ลงทุนในตราสาร Basel III AT1 ที่ Credit Suisse ได้มีการออกตราสารดังกล่าวไว้ ซึ่งในเวลาต่อมาทำให้ผู้ถือตราสาร Basel III AT1 ของ Credit Suisse ได้รับความเสียหายจากการลงทุนที่อาจมากกว่าผู้ถือหุ้น และผู้ถือตราสารอยู่ในระหว่างเตรียมการฟ้องร้องถึงการตัดหนี้สูญดังกล่าว
หากพิจารณาถึงสถานการณ์ของธนาคารพาณิชย์ของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า ผลกระทบของวิกฤตธนาคาร Credit Suisse ต่อระบบการเงินไทยนั้นมีจำกัด เนื่องจากธุรกรรมของภาคธนาคารและกองทุนอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับ ปัจจุบัน ธปท. มีการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ของไทยอย่างเข้มงวด โดยบังคับใช้เกณฑ์ด้านเงินกองทุนและสภาพคล่องกับธนาคารทุกแห่ง ซึ่งแตกต่างจากบางประเทศที่จะเน้นการกำกับดูแลที่เข้มงวดเฉพาะกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญเป็นหลัก รวมถึงสถิติภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีความมั่นคงและแข็งแรง และในปัจจุบันมีการออกตราสาร Basel III AT1 เพื่อเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันในต่างประเทศและผู้ลงทุนในวงจำกัดเท่านั้น ยังไม่มีการเสนอขายตราสารดังกล่าวต่อผู้ลงทุนรายย่อย
นอกจากนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์การออกตราสาร Basel III AT1 เพื่อเสนอขายประชาชนทั่วไป ในไทยจะไม่เกิดกรณีที่ผู้ถือตราสาร Basel III AT1 จะได้รับความเสียหายมากกว่าผู้ถือหุ้น เนื่องจาก ก.ล.ต. ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับตราสาร Basel III เพื่อให้มีความเหมาะสมกับบริบทและพฤติกรรมของผู้ลงทุนไทย ในเรื่องดังต่อไปนี้
• การกำหนดเงื่อนไขในการปลดหนี้หรือตัดหนี้เป็นสูญของตราสาร Basel III ว่าจะต้องเกิดขึ้นภายหลังจากการลดทุนของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น รวมถึงในการปลดหนี้ตามตราสารดังกล่าวจะต้องไม่มากไปกว่า
อัตราส่วนของการลดทุนของธนาคาร ซึ่งจะไม่ทำให้ผู้ถือตราสารเสียหายมากกว่าผู้ถือหุ้น
• ธนาคารพาณิชย์ผู้ออกตราสารจะต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยกรณีเสนอขายประชาชนทั่วไปต้องได้รับอันดับความน่าเชื่อถือที่ “investment grade rating” ขึ้นไปเท่านั้น
• ธนาคารพาณิชย์ผู้ออกตราสารต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเงินกองทุนเป็นรายเดือนบนเว็บไซต์ของธนาคารด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนการลงทุนในตราสารทุกประเภท ก.ล.ต. ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงและผลตอบแทนอย่างระมัดระวังก่อนตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงและไม่คุ้นเคย.-สำนักข่าวไทย