กรุงเทพฯ 2 มี.ค.- สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่เตรียมนำเงินกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ซื้อไข่ไก่ออกจากระบบ 20 ล้านฟอง แล้วเร่งผลักดันส่งออกไปต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาดซึ่งส่งผลให้ราคาที่ผู้เลี้ยงขายได้ลดต่ำลง จนขาดทุน เริ่มดำเนินการทันที เชื่อสถานการณ์จะดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์
นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่กล่าวว่า ได้หารือกับนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ถึงแนวทางสร้างสมดุลราคาไข่ไก่ในประเทศ โดยสมาคมเสนอจะนำเงินกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ซื้อไข่ไก่ออกจากระบบ 20 ล้านฟอง แล้วเร่งผลักดันการส่งออก เนื่องจากปัจจุบันผลผลิตไข่ไก่มากกว่าความต้องการบริโภคในประเทศ ส่งผลให้ราคาลดลงต่อเนื่อง จากเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566 ไข่ไก่คละหน้าฟาร์มฟองละ 3.60 บาท ลดลงเป็น 3.40 บาทต่อฟองในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ต่อมาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ปรับลดอีกครั้งเหลือฟองละ 3.20 บาท ขณะที่คณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตไก่ไข่และไข่ไก่ของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) คำนวณต้นทุนการผลิตไข่ไก่ไตรมาสที่ 4/2565 อยู่ที่ 3.47 บาทต่อฟอง เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่จึงประสบภาวะขาดทุน
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะไข่ไก่ล้นตลาดในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็น ส่งผลแม่ไก่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น จึงมีไข่ไก่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้ราคาที่เกษตรกรจำหน่ายได้ปรับลดลง ประกอบกับกำลังซื้อในประเทศลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ
ปัจจุบันจำนวนไก่ไข่ยืนกรงมี 52.66 ล้านตัว ประมาณการผลผลิตไข่ไก่ 43.71 ล้านฟองต่อวัน ความต้องการบริโภคในประเทศ 42.64 ล้านฟองต่อวัน ดังนั้นจึงมีไข่ไก่เกินและสะสมอยู่ในระบบ 1.07 ล้านฟองต่อวัน นอกจากนี้ยังมีไข่ไก่เนื้อเข้ามาเติมอีกเนื่องจากไก่เนื้อมีปัญหาล้นตลาดเช่นกัน จึงมีการชะลอปลดระวางไก่เนื้อ แล้วนำไข่เชื้อของไก่เนื้อมาจำหน่ายเป็นไข่บริโภคเพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ในฐานะคณะกรรมการที่ปรึกษาของ Egg Board ขอความร่วมมือผู้เลี้ยงไก่ไข่ยืนกรงปลดระวางไก่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 80 สัปดาห์ ยกเว้นรายย่อยที่เลี้ยงต่ำกว่า 30,000 ตัวที่ไม่ใช่ฟาร์มในระบบเกษตรพันธสัญญาของผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ที่เลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป ให้เร่งปลดไก่ไข่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 78 สัปดาห์ พร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการรายใหญ่ผลักดันการส่งออกหรือปลดไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนด
ล่าสุดได้เพิ่มมาตรการขอความร่วมมือไม่นำไข่เชื้อไก่เนื้อมาจำหน่ายเป็นไข่ไก่สดเพื่อการบริโภค ตลอดจนตรวจสอบปริมาณและทบทวนประสิทธิภาพการผลิตของพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) เพื่อนำมาวางแผนการผลิตไข่ไก่อย่างอย่างเหมาะสม
นายมงคลกล่าวย้ำว่า เงินกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ที่จะนำมาซื้อไข่ไก่ 20 ล้านฟองออกจากระบบนี้ ไม่ใช่เงินของภาครัฐ แต่เป็นเงินของภาคเอกชนที่เก็บผู้เลี้ยงรายใหญ่ 16 บริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ต่อมาจัดเก็บสมทบจากการนำเข้า ปู่ ย่า พ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ สำหรับใช้แก้ปัญหาอุตสาหกรรมไข่ทั้งระบบกรณีที่เกิดปัญหาไข่ราคาตกต่ำ ไข่ล้นตลาด และโรคระบาด
ทั้งนี้เชื่อว่า ผู้ผลิตไข่ไก่ของไทยสามารถเจรจาเปิดตลาดส่งออกได้เนื่องจากขณะนี้หลายประเทศเช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เป็นต้น กำลังประสบปัญหาไข่ไก่ขาดแคลนจากการระบาดของไข้หวัดนก ทำให้ผลผลิตไข่ไก่ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค หากผู้ประกอบการไทยเร่งส่งออกเพื่อระบายผลผลิตส่วนเกิน จากปกติวันละ 1 ล้านฟองเป็น 2 ล้านฟอง เชื่อว่า สถานการณ์ราคาในประเทศจะดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์
นายมงคลกล่าวถึงการที่ Egg Board กำลังพิจารณาออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ มาตรการ และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการปลดไก่ไข่ตามอายุที่เหมาะสม โดยให้ฟาร์มไก่ไข่ทุกแห่งปลดระวางไก่ไข่ยืนกรงไม่เกินอายุที่ Egg Board กำหนด ยกเว้นเกษตรกรรายย่อย ฟาร์มไก่ไข่ของรัฐ สถานศึกษา สถาบันวิจัย และฟาร์มไก่ไข่ที่เลี้ยงแบบไม่ใช้กรง (cage free) เป็นการออกมาตรการรักษาสมดุลการผลิตและเสถียรภาพราคาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงไก่ไข่ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมากกว่า 30% ทั้งจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิง และพันธุ์สัตว์ ขณะที่ราคาไข่ไก่ไม่มีเสถียรภาพ บางห้วงเวลาจำหน่ายได้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต อาจทำให้ผู้เลี้ยงจำนวนมากต้องเลิกเลี้ยง แล้วส่งผลประเทศไทยขาดแคลนไข่ไก่ได้ในอนาคต.-สำนักข่าวไทย