กรุงเทพฯ 17 ก.พ.- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM2.5 พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยพบว่า ปีนี้สถานการณ์รุนแรงกว่าปี 64 พบเกินค่ามาตรฐานเป็นระยะๆ ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา คุณภาพอากาศหลายพื้นที่อยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ปัจจุบันพบสัดส่วนจุดความร้อนสะสมพื้นที่ป่ามากที่สุดถึงกว่าร้อยละ 70
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือเนื่องจากสถานการณ์ในปีนี้รุนแรงกว่าปี 2564 โดยเริ่มเกินค่ามาตรฐานตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นระยะๆ จนถึงปัจจุบัน หลายพื้นที่ยังคงอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
รายงานจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบสัดส่วนจุดความร้อนสะสมพื้นที่ป่ามากที่สุดถึงกว่าร้อยละ 70 รองลงมาเป็นพื้นที่เกษตรและพื้นที่เมืองตามลำดับ
นายปิ่นสักก์กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีห่วงใยสุขภาพอนามัยของประชาชนในภาคเหนือซึ่งกำลังประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) จากการเผาในที่โล่ง จึงสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยกระดับการแก้ปัญหาในพื้นที่ภาคเหนือ
ล่าสุดนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประชุมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือ หน่วยงานภายใต้สังกัด ทส. ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ เพื่อยกระดับการแก้ไขสถานการณ์หมอกควันไฟป่าภาคเหนือ โดยกำชับการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการจากทุกภาคส่วน ยกระดับการแก้ปัญหาและเพิ่มการเฝ้าระวังควบคุมการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) รวมถึงการพิจารณาปิดพื้นป่าอนุรักษ์และพื้นที่ป่าสงวนบางส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟป่ากลับมาลุกไหม้เพิ่มขึ้น
นายจตุพรกล่าวว่า การยกระดับการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าจะต้องพุ่งเป้าไปยังพื้นที่ที่เป็นปัญหาเป็นลำดับแรก เพื่อระงับปัญหาอย่างทันท่วงที โดยมอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้เข้าตรวจสอบพื้นที่ Hotspot ผ่านการหารือร่วมกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละพื้นที่ เพื่อพิจารณาการตั้งจุดสกัดหรือการปิดเส้นทาง การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ โดยจะต้องมีการส่งข้อมูลต่างๆ ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า ภาคเหนือ) เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ และส่งข้อมูลแก่กรมควบคุมมลพิษเพื่อแจ้งเตือนข่าวสารให้กับประชาชนได้รับทราบ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุด คือ การประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องผลกระทบต่อสุขอนามัยจากหมอกควันไฟป่า พร้อมย้ำว่า หากมีการพบเห็นเหตุลักลอบเผาป่า ขอให้เจ้าหน้าที่พร้อมจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดในทันที
พร้อมกันนี้ปลัดทส. ยังได้กำชับให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า ภาคเหนือ) ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประสานงานกับทุกหน่วยงาน ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพิ่มความถี่ในการลาดตระเวน เฝ้าระวัง และดับไฟโดยเร็วที่สุด ให้ดำเนินการอย่างเต็มกำลังเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็วที่สุด และจะเข้มงวดติดตามและประเมินสถานการณ์ภายใน 3 วัน
ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ณ 07:00 น พบภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ พบเกินค่ามาตรฐาน 2 พื้นที่คือ จังหวัดน่านและสุโขทัย
ส่วนผลตรวจวัดตามรายภาคมีดังนี้
- ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 2 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 24 – 66 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 13 – 28 มคก./ลบ.ม.
- ภาคกลางและตะวันตก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 18 – 48 มคก./ลบ.ม.
- ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 19 – 28 มคก./ลบ.ม.
- ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 10 – 24 มคก./ลบ.ม.
- กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 19 – 48 มคก./ลบ.ม.
สำหรับผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มที่ควรเฝ้าระวังบริเวณภาคเหนือตอนบนในช่วงวันที่ 18-24 กุมภาพันธ์ ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลพบว่า อาจมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่โดยเฉพาะวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์
ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK.-สำนักข่าวไทย