กรุงเทพฯ 18 ม.ค.-บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดโรดแมปเส้นทางขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-Zero) พร้อมทั้งประกาศความสำเร็จยกเลิกการใช้ถ่านหิน 100 % สำหรับกิจการในประเทศไทย บรรลุตามเป้าหมาย Coal Free 2022 ชู 3 Smart ผลักดันการดำเนินธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำตามแนวทางรักษ์โลก
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก โดยซีพีเอฟได้ประกาศเป้าหมายสู่ Net-Zero ในปี 2050 (พ.ศ.2593) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 2566 ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายดังกล่าว หลังจากที่บริษัทฯ ได้บรรลุความสำเร็จในการยกเลิกการใช้ถ่านหิน 100% สำหรับกิจการในประเทศไทย ตามเป้าหมาย Coal Free 2022 และหันมาใช้พลังงานจากชีวมวลทดแทน สอดคล้องกับหลักการ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ตามแนวทางที่ประเทศไทยและทั่วโลกให้ความสำคัญ ส่งผลให้สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯอยู่ที่ประมาณ 30 % ของการใช้พลังงานทั้งหมด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 6 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมกันนี้ ภายใต้ความมุ่งมั่นสู่ Net-Zero ซีพีเอฟนำนวัตกรรม เทคโนโลยี AI IoT และระบบอัตโนมัติ มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตามแนวทาง 3 Smart หนุนกระบวนการดำเนินธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ (Smart Sourcing) กระบวนการผลิต (Smart Production) และการบริโภค (Smart Consumption)
Smart Sourcing การจัดหาวัตถุดิบ ยกระดับมาตรฐานการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยวัตถุดิบหลักทางการเกษตรที่สำคัญ รวมถึงข้าวโพด และถั่วเหลือง จะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้และมาจากพื้นที่ที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า
Smart Production กระบวนการผลิต การใช้พลังงานชีวมวลเพื่อทดแทนการใช้พลังงานจากถ่านหิน และการจัดการมูลสัตว์และน้ำเสียมาใช้เป็นพลังงาน (Waste to Energy) ด้วยระบบก๊าซชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) ในการบำบัดมูลสัตว์และน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงสุกรและไก่ไข่ และนำก๊าซมีเทนที่ได้จากก๊าซชีวภาพไปผลิตกระแสไฟฟ้ากลับมาใช้ในฟาร์ม ซึ่งสามารถทดแทนการใช้ไฟฟ้าในฟาร์มได้ถึง 50-70%
Smart Consumption การบริโภค บริษัทฯ มีการคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อนำไปสู่การกำหนดแผนในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์อาหาร และการให้ความสำคัญในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2566 ซีพีเอฟทั้งกิจการในไทยและต่างประเทศทั่วโลก จะร่วมกันกำหนดแผนภาพรวม (Roadmap)และแผนลงมือปฏิบัติ(Climate Transition Action Plans) โดยใช้ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของซีพีเอฟทั่วโลกในปี 2020 (พ.ศ.2563) เป็นปีฐาน เพื่อวางแผนและกำหนดเป้าหมายโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ระยะใกล้ (ปี 2030) และระยะไกล (ปี 2050 ) ตามมาตรฐานที่ดีที่สุด เป็นไปตามหลักทางวิทยาศาสตร์ ภายใต้ข้อกำหนดขององค์กร Science Based Initiatives (SBTi) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง CDP, United Nations Global Compact , World Resources Institute และ World Wide Fund for Nature โดยตั้งแต่ปี 2015 (พ.ศ. 2558) มีบริษัทมากกว่า 2,000 แห่ง เข้าร่วมเพื่อกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามหลักวิทยาศาสตร์ ในการรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลน โดยมีเป้าหมายในปี 2030 (พ.ศ.2573) เพิ่มพื้นที่สีเขียวรวมอย่างน้อย 20,000 ไร่ จากปัจจุบันที่ดำเนินโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในสถานประกอบการ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ที่อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และ โครงการ ”ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ในพื้นที่จังหวัดระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา ตราด และพังงาโดยได้มีการดำเนินการไปแล้วรวมประมาณ 14,000 ไร่.-สำนักข่าวไทย