กรุงเทพฯ 4 ม.ค. –ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเผย อธิบดีรัชฎารับตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี ย้ายหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแล้วคิดเป็น 60% โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ขณะที่ระดับผู้อำนวยการสำนักที่มีฝีมือดีหลายคนถูกย้ายทั้งที่ไม่มีความผิด ย้ำกระทรวงทส. ต้องคืนความเป็นธรรมให้
นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกล่าวว่า ได้ตรวจสอบการโยกย้ายข้าราชการกรมอุทยาแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชตั้งแต่นายรัชฎา สุริยะกุล ณ อยุธยามารับตำแหน่งอธิบดีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่า มีคำสั่งย้ายข้าราชการระดับ 9 ซึ่งเป็นระดับบริหารตั้งแต่ช่วงแรกๆ ราวกับเตรียมการมานานกว่า 20 คน เช่นตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งมี 21 สำนัก มีการโยกย้ายหลายคนไปเป็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดต่างๆ โดยไม่มีความผิดอะไร โดยเป็นผู้มีผลงานดีเป็นที่ประจักษ์ แต่กลับถูกโยกย้ายไปทำงานในภารกิจที่ไม่มีความสำคัญเทียบเท่างานเก่า ข้าราชการระดับนี้เป็นผู้ควบคุมงบประมาณ ที่สำคัญคือ การแต่งตั้งข้าราชการระดับนี้เป็นอำนาจของระดับกระทรวง ความไม่ชอบธรรมดังกล่าวจึงเกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรง ดังนั้นกระทรวงควรคืนความเป็นธรรมให้บุคลากรที่ถูกโยกย้ายในครั้งนั้น และปรับโครงสร้างการบริหารที่เกี่ยวเนื่องกับคดีความผิดของอธิบดีรัชฎา
นอกจากนี้ยังพบว่า มีการโยกย้ายหัวหน้าหน่วยงานภาคสนามแทบจะเป็นคำสั่งรายวันในระยะแรกๆ ที่นายรัชฎาเข้ารับตำแหน่ง โดยเฉพาะหัวหน้าอุทยานแห่งชาติที่มีความสำคัญด้านเก็บเงินรายได้ โดยโยกย้ายมากถึง 80 ตำแหน่งจาก 140 ตำแหน่ง คิดเป็น 60% โดยเป็นผู้ที่ที่มีประสบการณ์การทำงานสูง ทำให้ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การเก็บเงินรายได้เข้าอุทยานที่ไม่รั่วไหลเหมือนในอดีตเข้ามาส่วนกลางและคืนกลับไปสู่ท้องถิ่น คืนไปปรับปรุงบ้านพักเจ้าหน้าที่ การบริหารนักท่องเที่ยว ยานพาหนะ และโครงการต่างๆ ที่พลิกโฉมอุทยานอย่างผิดหูผิดตา จึงเป็นการโยกย้ายออกไปอย่างไม่เป็นธรรมเช่นกัน
สำหรับการโยกย้ายข้าราชการให้กลับไปประจำตำแหน่งสังกัดเดิม เป็นช่องเรียกรับผลประโยชน์สองต่อทั้งผู้ที่จะย้ายมาแทนและการป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกย้ายไป
นายศศินกล่าวว่า ได้ออกแถลงถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว รวมถึงเรียกร้องให้ผู้ที่เข้ามาทำงานแทนอธิบดีรัชฎา หาวิธีการคืนความชอบธรรมให้แก่บุคลากรดังกล่าวด้วย ทั้งนี้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเคยเสนอถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 แล้ว เกี่ยวกับเส้นทางการเข้าสู่ตำแหน่ง (Career Path) ของหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์ต้องโปร่งใสและเป็นไปตามหลักธรรมมาภิบาล ตลอดจนต้องมีหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับความเหมาะสมของบุคลากรในการเข้าไปบริหารดูแลป้องกันและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์อย่างชัดเจน.-สำนักข่าวไทย