นนทบุรี 27 ธ.ค.-รัฐมนตรีพาณิชย์ระบุเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ฉุดตัวเลขส่งออกเดือน พ.ย.65 ติดลบ ร้อยละ 6 แต่หากดูยอดส่งออกรวม 11 เดือน 65 เติบโตถึงร้อยละ 7.6 แม้ไทยจะดุลการค้าแต่เป็นการนำเข้ามาผลิตเพื่อการส่งออกโดยสินค้าเกษตรหลายรายการยังขายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นผลดีสินค้าเกษตรไทย
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการส่งออกของประเทศในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ว่า การส่งออกติดลบร้อยละ 6 คิดเป็นมูลค่า 22,308 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในช่วง 11 เดือนแรกของปียังคงขยายตัวร้อยละ 7.6 คิดเป็นมูลค่า 265,349 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกที่ติดลบในช่วงเดือนพฤศจิกายน เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างชัดเจน ทำให้การส่งออกลดลง แต่ยังคงมีสินค้าหลายรายการขยายตัวได้จึงทำให้ตัวเลขการส่งออกในช่วง 11 เดือนยังเป็นบวก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร เช่นไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้สด รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะน้ำตาลทราย ข้าวสาลี อาหารสำเร็จรูป และการขาดแคลนชิปดีขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงส่งออกได้ดี ในขณะที่การผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid ของประเทศจีนในเดือนมกราคมนั้น เชื่อว่ามีผลต่อการส่งออกของประเทศไทยที่จะทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าผลไม้
นอกจากนี้ ขณะที่การนำเข้าช่วงเดือนพฤศจิกายน 65 ขยายตัวร้อยละ 5.6 คิดเป็นมูลค่า 23,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐส่งผลทำให้ดุลการค้าขาดดุล 1,342 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าในช่วง 11 เดือนแรกของปีขยายตัวร้อยละ16.3 คิดเป็นมูลค่า 280,438 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดุลการค้าขาดดุล 15,088 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จะขาดดุลการค้าถือเป็นการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบนำมาผลิตเพื่อการส่งออกเป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะมีผลต่อการส่งออกจากนี้ ปัจจัยบวก คือ ความต้องการอาหารของโลกมีมากขึ้น ร้อยละ 10 จากการประเมินขององค์การอาหารโลก การขาดแคลนชิปคลี่คลายลงแล้ว ทำให้การผลิตสินค้ายานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆส่งออกดีขึ้น ในขณะที่ปัจจัยลบที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออก คือ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องสถานการณ์เงินเฟ้อของโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ส่งผลต่อการบริโภคลดลงซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกสินค้า และสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้กำลังซื้อของบางประเทศลดลงได้.-สำนักข่าวไทย