สำนักงาน ป.ป.ช. 23ธ.ค.-ประธานป.ป.ช. ปัดตอบมติชี้มูลคดีซื้อขายมันสำปะหลังจีทูจี “พรทิวา-ไตรรงค์” ไม่ผิด ให้รอกระบวนการรับรองทางการ บอกไม่เข้าใจข่าวหลุดได้ยังไง
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวว่า ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติ 5:2 ไม่ชี้มูลความผิดนางพรทิวา นาคาศัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงไม่ชี้มูลความผิดนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในสำนวนคดีเกี่ยวกับการซื้อขายมันสำปะหลังรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จนทำให้สังคมตั้งข้อสงสัย เนื่องจากนายไตรรงค์ เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายในขณะนั้น จะไม่รับรู้ถึงกระบวนการทุจริตเลยเป็นไปได้หรือไม่ ว่า การวินิจฉัยของกรรมการแต่ละคน ต้องดูจากพยานหลักฐานและชั่งน้ำหนัก ซึ่งแต่ละคนมีจุดยืน เพราะการจะชี้มูลในความผิดทางอาญา จะต้องมีเจตนาตามข้อกฎหมาย
“กรรมการบางคนอาจเคร่งครัดต่อข้อกฎหมาย และขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักตามดุลยพินิจของกรรมการแต่ละคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพยานหลักฐาน เท่าที่สามารถทำได้ บางคนอาจมองว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ ต้องดำเนินการเพิ่มเติม เมื่อที่ประชุมลงมติตามพยานหลักฐานก็เป็นดุลยพินิจของแต่ละคนที่ต้องเคารพ” ประธานป.ป.ช. กล่าว
ส่วนที่มีข้อสังเกตว่านายไตรรงค์รอดจากคดีนี้ เพราะได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีหรือไม่ พล.ต.อ. วัชรพล กล่าวว่า สังคมอาจจะตั้งข้อสงสัย แต่สิ่งที่คณะกรรมการป.ป.ช.ยึดมั่นเสมอ คือเรามีหน้าที่ให้ความเป็นธรรม ซึ่งการทำหน้าที่ตรงนี้ดูจากพยานหลักฐาน ระยะเวลาการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม ปัจจัยเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญ ทั้งนี้ เราอยากให้การวินิจฉัยครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ด้วยข้อจำกัดของพยานหลักฐาน กระบวนการต่าง ๆ บางครั้งอาจทำให้ พยานหลักฐานไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
ประธานป.ป.ช. กล่าวว่า กรรมการแต่ละคนมีดุลยพินิจที่จะต้องชั่างน้ำหนักและเราก็เคารพกัน การพิจารณาสำนวนของคณะกรรมการป.ป.ช. ข้อกฎหมายกำหนดว่าองค์ประชุมกรรมการ ป.ช. มี 9 คน องค์ประชุมต้องได้อย่างน้อย 5 คน หากจะชี้มูลต้องไม่ต่ำกว่าเสียงข้างมากของกรรมการเท่าที่มีอยู่ และในคดีสำคัญ ในฐานะประธานต้องให้กรรมการเข้าประชุมให้ครบ หากเกิดกรณีป่วยก็จะเลื่อนการประชุม
“ เราคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ทุกอย่างดี พยานหลักฐานทั้งหมด การถูกตรวจสอบโดยสังคม โดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย เข้ามาตรวจสอบการทำงานของป.ป.ช.ได้ ผมเคารพในความเห็นของแต่ละคน ทั้งประเด็นข้อซักถาม ประเด็นข้อสังเกตจากประชาชน หรือองค์กรต่าง ๆ แต่คณะกรรมการป.ป.ช.ที่วินิจฉัยคดี ต้องสามารถชี้แจงในสิ่งที่ท่านใช้ดุลยพินิจไป” พล.ต.อ. วัชรพล กล่าว
ส่วนที่สังคมยังมีข้อสงสัยและเรียกร้องให้ป.ป.ช.เปิดเผยสำนวนคดีจีทูจี ประธานป.ป.ช. กล่าวว่า กระบวนการนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ถึงแม้มติจะมีคำวินิจฉัยไปแล้ว ก็จะมีขั้นตอนว่าในช่วงวันวินิจฉัยจะมีข้อมูลพยานหลักฐานเยอะและต้องใช้เวลาในการอภิปรายค่อนข้างนาน เพราะฉะนั้นการจะลงรายงานการประชุมของมติที่ถูกต้องครบถ้วน จะต้องผ่านกระบวนการรับรองรายงานการประชุม รับรองมติ
“การที่เมื่อประชุมปุ๊บ ยังไม่ทันไรก็ออกไปสู่สื่อมวลชน ผมไม่เข้าใจว่ามันหลุดออกไปได้อย่างไร เพราะมันยังไม่เป็นทางการ ยังไม่ได้รับการรับรองโดยกฏหมาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ออกไปโดยสื่อมวลชน อาจจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่จะออกมาเป็นมติในภายหลัง หากจะให้ถูกต้องก็ต้องรอ รับรองรายงานประชุม รับรองมติ และรอเลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกแถลงข่าวจึงถือว่าเป็นผลอย่างเป็นทางการ “พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า เนื่องจากคดีนี้มีการชี้มูลผู้ถูกกล่าวหาบางราย จึงต้องรีบรวบรวมพยานหลักฐาน เอกสารทั้งหมด ส่งให้อัยการสูงสุดดำเนินการในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หากเห็นชอบตามที่ป.ป.ช. มีมติจะส่งฟ้อง หากไม่เห็นชอบก็จะต้องตั้งคณะกรรมการร่วมกันพิจารณา และตราบใดที่คดีนี้ยังไม่ขึ้นสู่ศาล จะมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าการเปิดเผยข้อมูลจะทำได้แค่ไหนอย่างไร เพราะอาจไปกระทบกับผู้กล่าวหา พยานบุคคลและการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งเราต้องรักษาสิทธิ์ตรงนี้ ยืนยันว่าเมื่อถึงเวลา ต้องเปิดเผยข้อมูล
เมื่อถามว่า สรุปคดีซื้อขายมันสำปะหลังจีทูจีมี มติ 5:2 ใช่หรือไม่ ประธาน ป.ป.ช.ระบุว่า ไว้รอมติที่เป็นทางการ ซึ่งตนค่อนข้างจะประหลาดใจว่าทำไมเลิกประชุมเกือบ 2 ทุ่ม ยังไม่ทันไรข่าวก็ออกไปทั่วแล้ว ซึ่งเก่งมาก แต่จะจริงหรือไม่จริง ตนก็ยังตอบไม่ได้เพราะต้องรอกระบวนการรับรองก่อน.-สำนักข่าวไทย