กกต. 5 พ.ค.-ประธาน กกต. เผย 11 ประเด็นที่ สนช.สงสัยในกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ไม่มีนัยทางการเมือง ย้ำ กกต.พร้อมปฎบัติตามกฎหมาย
นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธาน ว่า กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ที่ กกต.ได้ร่างและเสนอไปให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นั้น สนช.ได้มีข้อสงสัยในประเด็นต่าง ๆ ประมาณ 11 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตที่กฎหมายกำหนดว่าให้กำหนดภายใน 25 วันหลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ทาง สนช.ได้สงสัยว่าระยะเวลาดังกล่าวจะทำให้พรรคการเมืองเตรียมตัวในการส่งผู้สมัครทันหรือไม่ ซึ่ง กกต.ให้ความมั่นใจว่าพรรคการเมืองจะสามารถดำเนินการได้ทัน เพราะเชื่อว่านอกจากจะเป็นกระบวนการที่พรรคเร่งดำเนินการแล้ว คาดว่ากฎหมายพรรคการเมืองจะเสร็จก่อนกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ดังนั้นจึงน่าจะมีเวลาให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการได้
นายศุภชัย กล่าวว่า 2.การกำหนดให้การจัดการเลือกตั้งไม่อยู่ภายใต้ศาลปกครอง ซึ่ง กกต.ได้ชี้แจงว่าในกรณีนี้ กกต.ได้ขอเฉพาะขั้นตอนและกระบวนการในช่วงของการเลือกตั้ง เพราะในช่วงดังกล่าว กกต.ต้องออกกฎ ระเบียบ และคำสั่งต่าง ๆ มาก ดังนั้นหากมีผู้ไปร้องต่อศาลและศาลสั่งให้ชะลอ ก็จะกระทบต่อกระบวนการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งสะดุด 3.การลดจำนวนกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) จากเดิม 9 คน มาเป็นไม่ต่ำ 5 คน รวมถึงกรณี กปน.มาปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบ หรือไม่มาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการลดจำนวน กปน.เนื่องจากในอนาคต จะมีบัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบ และหีบเลือกตั้ง 1 ใบ ดังนั้นจึงเห็นว่าจำนวนคนที่ลดลงน่าจะเพียงพอ ประกอบกับสามารถประหยัดงบประมาณได้ด้วย ส่วนกรณี กปน.มาไม่ครบ ได้มีการแก้ปัญหาไว้แล้ว และในอนาคต กกต.ได้มีการอบรม กปน.มืออาชีพ ซึ่งจะมีการขึ้นทะเบียน กปน.ที่ผ่านการอบรมไว้ หากเกิดกรณีมาไม่ครบ จะให้ผู้ที่มีคุณสมบัติในลำดับถัดไปมาดำเนินการ อย่างไรก็ตาม กกต.เชื่อว่าหากมีการแต่งตั้งบุคคลเป็น กปน.แล้ว ผู้นั้นก็จะมาทำหน้าที่ หากไม่มา จะถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีความผิดตามกฎหมาย
นายศุภชัย กล่าวอีกว่า 4.การยื่นใบสมัคร ส.ส.ทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ สนช.กังวลเกี่ยวกับเวลาในการยื่นสมัครที่อาจจะมีการแก้ไขได้ ซึ่งในเรื่องนี้ เราได้ชี้แจงว่าการเพิ่มวิธีรับสมัครดังกล่าวเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการรับสมัครไม่ได้ เช่นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อการรับสมัคร ส.ส.เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่มีการปิดล้อมสถานที่รับสมัคร 5.กรณีเกิดเหตุจำเป็นเฉพาะพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้ง จะมีผลกระทบต่อการกำหนดวันเลือกตั้งหรือไม่ เรื่องดังกล่าวจะแก้ปัญหาโดยการเลื่อนเฉพาะเขตที่มีปัญหาเท่านั้น 6.กรณีการให้โอกาสพรรคการเมืองเปลี่ยนแปลงตัวผู้สมัครได้กรณีเสียชีวิตและขาดคุณสมบัติ ต้องดำเนินการก่อนการปิดรับสมัคร ในเรื่องนี้ กกต.ได้ชี้แจงว่าในกรณีดังกล่าว พรรคการเมืองสามารถเปลี่ยนตัวผู้สมัครได้ แต่ถ้าพรรคการเมืองส่งผู้สมัครที่มีคุณสมบัติไม่ครบ หัวหน้าพรรคต้องรับผิดชอบฐานเป็นผู้รับรองและให้ข้อมูลเท็จ รวมถึงผู้สมัครด้วย
นายศุภชัย กล่าวว่า 7.การยื่นคำร้องเกี่ยวกับการเลือกตั้งต่อศาลฎีกาในกรณีคนไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง สามารถให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแทนได้ ในเรื่องดังกล่าวเป็นลักษณะเช่นเดียวกับอดีตที่ผ่านมาว่าเหตุเกิดขึ้นในพื้นที่ใด สามารถร้องต่อศาลในพื้นที่นั้นเพื่อพิจารณาแทน แล้วส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเป็นผู้ตัดสิน 8.เรื่องการรับรองผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการที่ได้มีการแก้ไข จากการที่จะต้องประกาศผลการเลือกตั้งร้อยละ 95 มาเป็นร้อยละ 90 แต่ไม่เกินร้อยละ 95 เพื่อไม่ให้เกิดปัญหานำมาฟ้องร้องกรณีการนับยังไม่เสร็จสิ้น เพราะเมื่อ กกต.เห็นว่าคะแนนอยู่ในระดับที่สามารถประกาศผลได้ แต่ไม่ต้องรอให้ถึงร้อยละ 95
นายศุภชัย กล่าวว่า 9.กรณีก่อนประกาศผล หากพบผู้สมัครรู้เห็น หรือมีส่วนกับการกระทำที่ไม่สุจริต กกต.สามารถระงับสิทธิ์การเป็นผู้สมัครได้ในเวลา 1 ปี เรื่องนี้เป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 225 วรรค สอง 10.การกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.ที่ กกต.พบว่าทุจริตการเลือกตั้ง ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิ์และสั่งให้เลือกตั้งใหม่ ผู้นั้นจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทั้งหมด ส่วนการเรียกคืนเงินประจำตำแหน่งและอื่น ๆ เป็นเรื่องของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ 11.การเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งแตกต่างกันอย่างไร ในเรื่องนี้ กกต.ได้ชี้แจงว่ากรณีการเพิกถอนสิทธิ์การสมัครรับเลือกตั้ง ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ตลอดชีวิต แต่สามารถไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ แต่กรณีการถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งจะมีระยะเวลา 5-10 ปี หากพ้นโทษแล้ว สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้
“การไปชี้แจงครั้งนี้ของ กกต.เป็นการไปให้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งหาก สนช.ไม่เห็นด้วย จะแก้ไขหรือจะใช้ร่างของ กรธ. ทาง กกต.ก็พร้อมปฏิบัติ กฎหมายออกมาอย่างไร ในฐานะผู้ปฏิบัติ ก็พร้อมจะดำเนินการ ซึ่งการชี้แจงครั้งนี้ น่าจะเป็นการเตรียมตัวของ สนช.โดยการเอาร่างของ กกต.มาศึกษาก่อน เมื่อ กรธ.เสนอร่างมาแล้ว ก็จะเสนอร่างได้เร็ว เนื่องจากขั้นตอนการพิจารณากฎหมายลูกมีจำนวน 10 ฉบับ แต่มีเวลาพิจารณาแค่ 240 วัน ไม่น่าจะมีนัยหรือสัญญาณใด ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพราะทุกอย่างก็เป็นไปตามขั้นตอน” นายศุภชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย