ทำเนียบฯ 31 ต.ค. – นายกฯ ประชุมบอร์ด BCG ย้ำหน่วยงานรัฐเร่งสนับสนุน 3 สาขาโมเดลเศรษฐกิจ BCG เล็งจัดตั้งศูนย์แปลผลข้อมูลพันธุกรรมสำหรับการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง-โรควินิจฉัยยาก คาด 4 ล้านคนไทยได้ประโยชน์-หนุนราชบุรี Sandbox จัดการโรคระบาดในสุกร
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ครั้งที่ 2/2565 (ผ่านระบบ Video Conference) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำถึงความสำคัญของการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งประเทศไทยได้เสนอในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ต่อการประชุมเอเปค ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ และใช้โอกาสนี้ในการประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้นานาประเทศได้รับรู้ผ่านกิจกรรม สินค้าและผลิตภัณฑ์ BCG ต่างๆ ของประเทศไทยด้วย
รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าการดําเนินงานตามมติคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ครั้งที่ 1/2565 (7 กุมภาพันธ์ 2565) ทั้ง 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) การจัดสรรงบประมาณ 2) ภาครัฐปรับยุทธศาสตร์บูรณาการ BCG เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ 3) การสร้างระบบนิเวศเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน 4) การสนับสนุนภาคประชาสังคม และ 5) การติดตามผลการดําเนินงานตามแผน BCG ต่อการบรรลุเป้าหมาย SDG ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) โดยขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไปให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามแผน เพื่อบรรลุเป้าหมาย BCG และ SDG ตามที่กำหนดไว้
นายกรัฐมนตรี ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเริ่มเห็นผลสําเร็จที่เป็นรูปธรรม ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและสังคมได้รับทราบอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการขับเคลื่อน 3 สาขายุทธศาสตร์ ได้แก่
- สาขายาและวัคซีน ให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ 661.79 ล้านบาท เพื่อการจัดตั้งศูนย์แปลผลข้อมูลพันธุกรรมสำหรับการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง และศูนย์แปลผลข้อมูลพันธุกรรมสำหรับการแพทย์แม่นยำในโรคหายากและโรควินิจฉัยยาก ซึ่งคาดว่าจะมีคนไทยกว่า 4 ล้านคน มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานผลิตวัตถุดิบทางยา (Active Pharmaceutical Ingredient, API) ครั้งแรกของประเทศ เพื่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพ การจัดตั้งโรงงานดังกล่าว คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท ในรูปแบบของการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด องค์การเภสัชกรรม และ สวทช.
- สาขาเกษตร ได้สั่งการให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิต Autogenous Vaccine ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ได้มาตรฐาน เพื่อรองรับการผลิตวัคซีนใช้ป้องกันโรคระบาดที่สำคัญในฟาร์ม เสริมการดำเนินงานของราชบุรี Sandbox ในการจัดการโรคระบาดในสุกร และมอบให้ทุกหน่วยงานที่จัดเก็บข้อมูลตลอด Supply Chain เปิดเผยข้อมูลเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการสู่เกษตรสมัยใหม่ด้วยการใช้คลังข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพิ่มรายได้เกษตรกร ผลิตได้ตรงเป้า และลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติต่างๆ ด้วยการวางแผนรับมือได้ล่วงหน้า
- สาขานวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาแนวทางลดอุปสรรคทางภาษี เพื่อสนับสนุนการร่วมลงทุนระหว่างบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท Braskem ซึ่งเป็นผู้ผลิตโพลิเมอร์ชีวภาพรายใหญ่ที่สุดในโลก ในการจัดตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ พอลิเอทิลีน (Bio-PE) ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิต 2 แสนตัน/ปี ใช้เอทานอล 450 ล้านลิตร/ปี โดยทุกตันของ Bio-PE ที่ผลิตปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไซด์ต่ำกว่าปิโตรเลียม 5 เท่า
นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการและเน้นย้ำให้ภาครัฐทุกกระทรวงเร่งเครื่องสนับสนุนการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตามภูมิภาคต่างๆ โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ และให้หารือสภาพัฒน์ฯ เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ BCG ทุ่งกุลาร้องไห้ ต่อไป
รวมทั้งให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สนับสนุนการใช้สัญลักษณ์ T-Mark (Thailand Trust Mark) สำหรับผู้ประกอบการ BCG และกลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อม เพื่อสนับสนุนการขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการ BCG อีกทางหนึ่ง
สำหรับการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในภาคสังคม ได้เตรียมการจัดตั้ง “ธนาคารอาหารออนไลน์” ด้วยระบบ “คลาวด์ ฟู้ด แบงค์” ครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ แบบจตุภาคี ซึ่งแพลตฟอร์ม “คลาวด์ ฟู้ด แบงค์” เป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่ต้องการบริจาคอาหารกับกลุ่มคนที่ขาดแคลนอาหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการรับและการส่งต่ออาหาร โดยเอสโอเอสเป็นผู้พัฒนาและดูแลระบบ โดยมีบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาแพลตฟอร์ม. – สำนักข่าวไทย