กรุงเทพฯ 17 ต.ค.-บอร์ดบีโอไอไฟเขียวยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566-2570) พลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ ปักธง 7 หมุดหมายแห่งอนาคต เพิ่มความสามารถการแข่งขันในระยะยาว ขณะที่ยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 9 เดือน มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รับความเห็นของคณะกรรมการไปพิจารณา และให้นำยุทธศาสตร์ฉบับใหม่นี้ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) มีเป้าหมายเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” ที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว โดยบีโอไอวางเป้าหมายให้บรรลุผล 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่
(1) Innovative เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์
(2) Competitive เป็นเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวเร็ว และสร้างการเติบโตสูง
(3) Inclusive เป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า จากกระแสการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นกระแสความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่การปรับห่วงโซ่อุปทานและการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ ได้ก่อให้เกิดโอกาสด้านการลงทุนในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค (Regional Hub) อย่างน้อยใน 5 ด้าน ได้แก่
– Tech Hub เป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านดิจิทัล ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ และอุตสาหกรรมอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น
– BCG Hub เป็นศูนย์กลางการลงทุนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ พลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น
– Talent Hub เป็นศูนย์รวมผู้มีศักยภาพจากทั่วโลก เช่น ผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรทักษะสูง ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย กลุ่มสตาร์ตอัป ไปจนถึงนักลงทุนและผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง เป็นต้น
– Logistics & Business Hub เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ตลอดจนเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจระหว่างประเทศ โดยเป็นที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarter) ธุรกิจบริการ ธุรกิจด้านการเงินและการค้าระหว่างประเทศ
– Creative Hub เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ดิจิทัลคอนเทนต์ เกมและอีสปอร์ต โดยใช้ศักยภาพด้านวัฒนธรรมของไทย ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่เวทีโลก
สำหรับ 7 หมุดหมายสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ และยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค ประกอบด้วย 1) การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีความโดดเด่น ควบคู่กับการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งของ Supply Chain 2) เร่งเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่ Smart & Sustainability 3) ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค 4) ส่งเสริม SMEs และ Startup ให้เข้มแข็งและเชื่อมต่อกับโลก 5) ส่งเสริมการลงทุนตามศักยภาพพื้นที่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง 6) ส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม และ 7) ส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ โดยบีไอไอจะใช้เครื่องมือสำคัญ 3 ด้าน เพื่อขับเคลื่อน 7 หมุดหมายให้บรรลุผลสำเร็จ คือ สิทธิประโยชน์ทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี การบริการแบบครบวงจรทั้งก่อนและหลังการลงทุน การสร้างระบบนิเวศและปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน
นอกจากนี้ บีโอไอจะปรับเปลี่ยนบทบาทจากเดิมเป็นผู้ส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์ (Promoter) มาสู่การให้น้ำหนักกับการเป็นผู้บูรณาการเครื่องมือสนับสนุนการลงทุน (Integrator) ผู้ให้บริการและอำนวยความสะดวก (Facilitator) และผู้เชื่อมโยงอุตสาหกรรมเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ (Connector) มากขึ้น
“ในโลกยุคใหม่ที่มีความท้าทาย ความผันผวน และมีการแข่งขันสูง บีโอไอจะเป็นองค์กรที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และมุ่งมั่นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาประเทศ โดยพร้อมจะร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการผลักดัน 7 หมุดหมายแห่งอนาคตให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อนำประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งเติบโตอย่างยั่งยืน และแข่งขันได้บนเวทีโลก” นายนฤตม์ กล่าว
สำหรับสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2565 มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1,247 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8 และมูลค่ารวม 439,090 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 เนื่องจากปีที่แล้ว มีโครงการขนาดใหญ่ในกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้ายื่นขอรับการส่งเสริมหลายโครงการ มูลค่ารวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท หากพิจารณาจากสถิติการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงกับการลงทุนจริงมากที่สุด จะพบว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีการออกบัตรส่งเสริม 1,101 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17 และมูลค่ารวม 357,552 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 57 เป็นสัญญาณว่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จะมีการลงทุนเกิดขึ้นจริงมากขึ้น
ในช่วง 9 เดือน คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีมูลค่ารวม 286,699 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์
ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีมูลค่ารวม 275,624 ล้านบาท โดยการลงทุนจากจีน มีเงินลงทุนมากที่สุด 45,024 ล้านบาท ตามด้วยไต้หวัน 39,256 ล้านบาท และญี่ปุ่น 37,591 ล้านบาท โดยมูลค่าการลงทุนจากจีนและไต้หวัน ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าการลงทุนใน 2 สาขานี้ จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
สำหรับพื้นที่เป้าหมาย EEC มีการขอรับส่งเสริม จำนวน 376 โครงการ เงินลงทุนรวม 246,655 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 56 ของการลงทุนทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในจังหวัดระยองและชลบุรี
นอกจากนี้ มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ จำนวน 234 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 86 และมีเงินลงทุน 15,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรที่ทันสมัยและนำระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สอดรับกับสังคมผู้สูงวัย รองลงมาคือ การลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนหรือการประหยัดพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการลดคาร์บอนของโลก.-สำนักข่าวไทย