สธ. 26 ก.ย.- ก.สาธารณสุข แถลงแผนปฏิบัติการโควิด-19 หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ยุบ ศบค. ยืนยันแม้โควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง แต่ยา-วัคซีนมีครบ เลิกรายงานตัวเลขติดเชื้อ 1 ต.ค.นี้ แต่ระบบทางการแพทย์เดินหน้าปกติ หลังโชว์อัตราของเตียงต่ำแค่ 6.6% หากป่วยโควิดจากนี้รักษาตามสิทธิ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงฯ แถลงแผนปฏิบัติการโควิด-19 ในระยะต่อไป หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยุบ ศบค. ขณะนี้สถานการณ์โควิดทั้งของไทยและทั่วโลกดีขึ้น การดำเนินกิจกรรมและใช้ชีวิตทุกอย่างกำลังเข้าสู่ภาวะปกติ โดยประชาชนส่วนใหญ่มีการรับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และมีการติดเชื้อทำให้ได้รับภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ คาดว่าประชาชนมีภูมิคุ้มกันแล้ว 92% และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป โควิด-19 จะกลายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังลำดับที่ 57 ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบ โดยโควิดจะมีสถานะเดียวกับไข้หวัดใหญ่ โปลิโอ หัดเยอรมัน อีสุกอีใส อาหารเป็นพิษ
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเตรียมแผนรับมือสำหรับการเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง พร้อมให้ความมั่นใจในการดำเนินกิจกรรมและกิจการต่างๆ และลดมาตรการบางอย่างเช่นเดียวกับทั่วโลกเพื่ออำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยว เช่นไม่ต้องแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิด โดยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 1 ล้านคน/เดือน พร้อมยกเลิกการรายงานสถานการณ์โควิดตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้ แต่ระบบการติดตามเฝ้าระวังและรายงานผลในการสอบสวนยังดำเนินอยู่ปกติ
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการจัดเตรียมยาและเวชภัณฑ์ไว้พร้อมรองรับเมื่อเข้าสู่การเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง โดยอัตราการครองเตียงปัจจุบันอยู่ที่ 4,802 เตียง หรือคิดเป็น 6.6% จากอัตราเตียงทั้งหมด 73,000 เตียง โดยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง 90% มีอาการหนัก 10% และปัจจุบันมีผู้ป่วยต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 287 คน หรือคิดเป็น 6.1% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
ส่วนสถานการณ์ยาและเวชภัณฑ์ ปัจจุบันยาฟาวิพิราเวียร์เหลือ 5,621,175 เม็ด ใช้ไปต่อเดือน 58,000 เม็ด และเตรียมสั่งซื้อยาเพิ่มอีก 10 ล้านเม็ด คาดว่ามียาเพียงพอใช้ได้นาน 5 เดือน ยาโมลนูพิราเวียร์เหลือ 20 ล้านเม็ด ใช้ไปต่อเดือน 140,000 เม็ด เตรียมสั่งซื้อเพิ่ม 35 ล้านเม็ด คาดมีเพียงพอใช้นาน 7 เดือน ยาเรมเดซิเวียร์เหลือ 23,000 ขวด เหลือใช้ 1,219 ขวด เตรียมสั่งซื้อเพิ่ม 300,000 ขวด คาดเพียงพอใช้นาน 8 เดือน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อโควิดดีขึ้น ทั้งในกลุ่มการติดเชื้อ การเสียชีวิต และคาดว่าในปี 2566 จะพบการระบาดขึ้นลงอีก เป็นระลอกเฉลี่ยปีละ 1-2 ครั้ง เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งการเฝ้าระวังโรคจากนี้จะเน้น 1.เฝ้าระวังผู้ป่วยใน รพ. 2.เฝ้าระวังเป็นกลุ่มก้อน และมีทีมสอบสวนโรค และประกาศพิจารณาเป็นโรคระบาดเฉพาะพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นคนควบคุม 3.เฝ้าระวังสถานที่เฉพาะ เช่น โรงเรียน สถานดูแลผู้สูงอายุ 4.เฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์
ส่วนการฉีดวัคซีนคาดว่า จะมีการฉีดวัคซีนโควิดจะมีการฉีดปีละ 1-2 ครั้ง ส่วนสถานที่ฉีด สามารถรับบริการได้ฟรีตามสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในต่างจังหวัด และตามศูนย์ฉีดวัคซีนของกรุงเทพมหานคร ส่วนการความพร้อมของวัคซีนโควิด โดยขณะนี้มีวัคซีนในมือตามสัญญาการสั่งซื้อ 42 ล้านโดส พร้อมย้ำการตรวจ ATK ควรทำเมื่อสงสัยป่วยหรือมีอาการเท่านั้น ในหน่วยงานไม่จำเป็นต้องคัดกรอง ATK แต่ให้คัดกรองอาการป่วยส่วนระดับบุคคล หากป่วยมีอาการเล็กน้อย เคร่งครัดใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ 5 วัน
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สำหรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิดเป็นไปตามสิทธิรักษาของตนเองใน 3 กองทุน ทั้งหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม หากป่วยโควิดฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิ UCEP PLUS ส่วนสถานพยาบาลชั่วคราว ฮอสพิเทล จะยุติทั้งหมดในสิ้น ก.ย.นี้ ส่วนในแรงงานต่างด้าว หากมีสิทธิในประกันสุขภาพใช้สิทธิประกันได้ แต่หากไม่มีประกันฯ ก็จ่ายค่ารักษาเองตามระบบ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แนวทางรักษาโควิดฉบับปรับปรุงล่าสุด เตรียมเสนอเข้าที่ประชุม EOC ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ และเริ่มใช้ 1 ต.ค.เป็นต้นไป ติดเชื้อไม่มีอาการรักษาแบบผู้ป่วยนอก เคร่งครัดมาตรการ DMHT 5 วัน, หากไม่มีอาการ เอกซเรย์ปอดปกติ มีโรคร่วม อาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ แต่ต้องให้เร็วที่สุด แต่หากไม่มีอาการ อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และมีปอดอักเสบเล็กน้อย อาจพิจารณาให้ยาตัวใดตัวหนึ่ง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ทั้งแพกซ์โลวิด เรมเดซิเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ โดยพิจารณาให้ตามลำดับ โมลนูพิราเวียร์จะเป็นยาตัวสุดท้ายที่จะพิจารณา การให้ยาจะต้องให้เร็วที่สุด
ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี หากป่วยเน้นรักษาตามอาการหรือให้ยาฟาวิพิราเวียร์สูตรน้ำ เนื่องจากในยาตัวอื่น ๆ ไม่มีข้อบ่งใช้ในเด็ก แต่หากไม่มีอาการไม่รุนแรงหรือมีปัจจัยเสี่ยง ปอดอักเสบ หรือปอดอักเสบเล็กน้อย ให้พิจารณาให้เรมเดซิเวียร์ 3 วัน หรือแพกซ์โลวิด 5 วัน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ .-สำนักข่าวไทย