อสมท 24 ส.ค. – “จรัญ” ชี้เป็นครั้งแรกศาล รธน.ใช้อำนาจตุลาการสั่งนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ คาดใช้เวลาวินิจฉัยปม 8 ปี นายกฯ ภายใน 2 เดือน ไม่เกินต้นเดือน ต.ค.
นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกระบวนการหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องกรณีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า นายกรัฐมนตรีต้องทำคำชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน นับจากวันที่รับสำเนาคำร้อง และคาดว่าศาลจะขอบันทึกเจตนารมณ์และเอกสารบันทึกรายงานการประชุม ข้อถกแถลงของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต่อเลขาธิการรัฐสภา เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา วิเคราะห์หาเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ให้แม่นยำที่สุด ซึ่งส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ไม่ง่าย
นายจรัญ ยังกล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน แปลว่าจะทำเร็ว ซึ่งการที่ฝ่ายตุลาการใช้อำนาจสั่งให้เบอร์หนึ่งของฝ่ายบริหารหยุดปฏิบัติหน้าที่ ถึงแม้จะมีรองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทน แต่ก็ไม่ทรงพลังเหมือนนายกรัฐมนตรีอยู่เอง หากมองในแง่ของจิตวิทยาความรู้สึกของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพราะฉะนั้น ศาลจะปล่อยให้เรื่องนี้เฉื่อยแฉะไม่ได้ พร้อมมองว่า กระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างช้า 2 เดือน น่าจะรู้ผล
นายจรัญ กล่าวอีกว่า การที่ศาลสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ เป็นไปตามแนวทางกฎหมายที่ระบุว่า หากมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเข้ากรณีตามคำร้อง ก็มีอำนาจสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อน
“ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ศาลเคยใช้อำนาจแบบนี้ แต่ยังไม่เคยใช้กับนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตุลาการสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน โดยไม่เคยเกิดกรณีแบบนี้มาก่อน จะเห็นได้ว่า มติข้างมาก 5 ต่อ 4” นายจรัญ กล่าว
เมื่อถามว่า หากเทียบเคียงกับกรณีคำร้องนายกรัฐมนตรีอาศัยอยู่ในบ้านพักหลวง แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ นายจรัญ กล่าวว่า ในกรณีนั้นไม่มีเหตุสงสัย แต่กรณีวาระ 8 ปี เข้าข่ายมีเหตุสงสัย หากถามว่า ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีแล้วหรือยัง คำตอบคือ 8 ปีแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่จะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด ถ้านับตั้งแต่วันแรกก็ครบ 8 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นถือว่ามีเหตุผล จึงไม่ใช่เรื่องที่ศาลใช้อำนาจก้าวล่วงฝ่ายบริหาร
ส่วนจะต้องเชิญกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาชี้แจงด้วยหรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า ตนคิดว่าถ้าได้ฟังคำคัดค้านของนายกรัฐมนตรี ประกอบบันทึกเจตนารมณ์ของ กรธ. รวมถึงเอกสารการประชุมของ กรธ. ที่ได้จากรัฐสภา น่าจะเพียงพอในการวินิจฉัยประเด็นนี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเชิญใครมาให้ข้อคิดเห็นต่อศาล เพราะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลต้องวินิจฉัยเอง และหากจะให้การวินิจฉัยเร็ว ก็ต้องไม่เชิญ แต่หากคิดว่าอ่านบันทึกเจตนารมณ์ กรธ. และคำโต้แย้งของนายกฯ แล้วยังไม่กระจ่าง ก็อาจจะยอมเสียเวลาอีก 1 สัปดาห์ เชิญเข้าชี้แจง
“แต่ทั้งนี้ ไทม์ไลน์จะเห็นได้เลยว่า จะปล่อยให้ประเทศอยู่ในภาวะไม่เต็มสูบเหมือนเครื่องเดินไม่เต็มสูบนานไม่ได้ ท่านต้องเร่งแน่” นายจรัญ กล่าว
นายจรัญ ยังกล่าวว่า หากดูจากกฎเกณฑ์และวิเคราะห์จากบ้านเมือง หลายฝ่ายก็วิเคราะห์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีคำวินิจฉัยอีกไม่เกิน 2 เดือน หรืออย่างช้าที่สุดช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่ง สภาฯ จะได้หานายกรัฐมนตรีคนใหม่ทัน หรือถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่หลุดจากตำแหน่ง ก็จะได้ทำงานต่อ โดยเฉพาะการประชุมเอเปค ตนคิดว่า ทันเหตุการณ์แน่ ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร เราน่าจะมีนายกฯ ตัวจริงทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมเอเปคได้
ส่วนคำชี้แจงนายกรัฐมนตรีต้องทำด้วยตนเองหรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า ไม่จำเป็น สามารถให้ทีมกฎหมายดำเนินการได้ และให้นายกรัฐมนตรีลงลายเซ็นรับรอง พร้อมระบุว่า หลังนายกรัฐมนตรีส่งคำคัดค้านไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะได้ทราบว่ามีแง่มุมอะไรที่เรายังมองไม่เห็นอีกหรือไม่ เพราะฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลถือเป็นมือหนึ่งทั้งนั้น เราก็มองไม่รู้ว่าท่านคมในฝักอย่างไร. – สำนักข่าวไทย