วอชิงตัน 1 เม.ย. – ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ประกาศปล่อยน้ำมันสำรองจากคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐสูงถึง 180 ล้านบาร์เรล เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งถือเป็นการปล่อยน้ำมันสำรองมากที่สุดนับตั้งแต่สหรัฐตั้งคลังน้ำมันสำรองในปี 2517 โดยตั้งเป้าแก้ปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามยูเครน
ประธานาธิบดีไบเดนประกาศปล่อยน้ำมันสำรองจากคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐวันละ 1 ล้านบาร์เรลติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือนด้วยปริมาณรวมสูงสุดถึง 180 ล้านบาร์เรล โดยตั้งเป้าควบคุมราคาน้ำมันในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นจากสงครามยูเครน พร้อมทั้งให้คำมั่นว่าจะหาวิธีการอื่น ๆ เพื่อเพิ่มกำลังผลิตของสหรัฐ เช่น การเร่งลงทุนพัฒนาแหล่งพลังงานสีเขียว ผู้นำสหรัฐยังระบุว่า การปล่อยน้ำมันสำรองในครั้งนี้ถือเป็นปริมาณสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นการประกาศปล่อยน้ำมันสำรองครั้งที่สามในรอบ 6 เดือนของสหรัฐ
ประกาศดังกล่าวของประธานาธิบดีไบเดนทำให้ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสของสหรัฐ (WTI) ปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 7 เหลือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (3,300 บาท) ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนต์ปรับตัวลดลงราวร้อยละ 5.4 เหลือ 107 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (3,500 บาท) อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ของแคพิทอล อีโคโนมิกส์ บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์รายใหญ่ของอังกฤษ ให้ความเห็นว่า การประกาศปล่อยน้ำมันสำรองของสหรัฐยังไม่เพียงพอต่อการชดเชยปริมาณน้ำมันที่นำเข้าจากรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากซาอุดีอาระเบีย แม้วิธีดังกล่าวจะช่วยให้ราคาน้ำปรับตัวลดลงในระยะสั้น แต่ก็จำเป็นต้องหาหนทางอื่นเพื่อทำให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างยั่งยืนด้วย.-สำนักข่าวไทย