25 ก.พ. – ผ่านมาเกือบ 1 วันเต็ม ตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน โจมตีหลายเมือง ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นกว่า 130 คน ชาวยูเครนหนีภัยสงครามจ้าละหวั่น ส่วนผู้นำยูเครนตัดพ้อถูกทอดทิ้งให้สู้คนเดียว
สงครามในยูเครนกลายเป็นการสู้รบครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเกือบ 80 ปีก่อน หลังจากที่นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ได้ประกาศเปิดปฏิบัติการทางการทหารพิเศษ ช่วงเช้าตรู่วานนี้ จากนั้นมาได้เกิดการโจมตีในหลายเมืองของยูเครน รวมถึงกรุงเคียฟ โดยใช้ทั้งขีปนาวุธ ปืนใหญ่ และการโจมตีทางอากาศพุ่งเป้าที่มั่นทางการทหารและสนามบินของยูเครน ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงรัสเซียได้ประกาศว่า สามารถทำลายฐานทัพอากาศและระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครนได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกองบัญชาการทหาร 3 แห่ง สนามบิน 11 แห่ง สถานีเรดาร์ของระบบต่อสู้อากาศยาน 18 แห่ง
พื้นที่ที่จับตามากที่สุดในขณะนี้คือ โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เชอร์โนบิล ซึ่งเกิดโศกนาฏกรรมจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดของโลกเมื่อกว่า 30 ปีก่อน สมัยที่ยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ซึ่งได้เกิดการสู้รบอย่างหนักก่อนที่ทหารรัสเซียจะเข้าครอบครองและควบคุมตัวเจ้าหน้าที่หลายคนซึ่งทำหน้าที่ควบคุมป้องกันกัมมันภาพรังสีอันตรายอยู่ ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่ารัสเซียต้องการยึดครองทำไม แต่ที่สำคัญคือโรงไฟฟ้าแห่งนี้อยู่ไม่ไกลจากกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน
ที่กรุงเคียฟ นายโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี้ ประธานาธิบดียูเครน แถลงล่าสุด โดยสวมเสื้อทหาร กล่าวว่า มีชาวยูเครนทั้งพลเรือนและทหารเสียชีวิตแล้ว 137 คน แต่เขาจะยืนหยัดต่อสู้และได้ประกาศระดมกำลังทหารเต็มรูปแบบ เรียกตัวชายยูเครนอายุ 18-60 ปี ให้เข้าประจำการเพื่อต่อสู้กับรัสเซีย นอกจากนี้ยังเผยว่า รัสเซียนั้นได้หมายหัวเขาเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง และครอบครัวของเขาเป็นอันดับสอง โดยได้ส่งหน่วยจารกรรมสังหารเพื่อเอาชีวิตของเขาเข้าไปในกรุงเคียฟเรียบร้อยแล้ว นายเซเลนสกี้ยังแสดงความผิดหวังที่ไม่มีประเทศไหนมาช่วยต่อสู้กับรัสเซีย กล่าวว่า “เขาไม่เห็นใครเลยที่มาร่วมสู้เคียงข้างยูเครน”
เท่าที่ผ่านมา นานาชาติได้ใช้มาตรการลงโทษกับรัสเซีย โดยที่เลี่ยงขยายความขัดแย้ง ก่อนหน้านี้องค์การนาโต้ ได้ยืนยันว่าจะไม่ส่งทหารเข้าไปในยูเครน เพราะยูเครนไม่ใช่สมาชิก มีเพียงชาติตะวันตกบางประเทศที่มอบความช่วยเหลือเป็นเงินและยุทโธปกรณ์เท่านั้น ขณะนี้มีรายงานว่า ยูเครนพยายามเรียกร้องให้ชาติตะวันตกยื่นมือเข้าช่วย ทูตของยูเครนในอังกฤษได้ส่งหนังสือขอร้องให้ชาติตะวันตกและนาโต้ ลงมือมากขึ้นเพื่อขับไล่รัสเซียออกไป
ส่วนนาย ดมิทรี คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน แสดงความไม่พอใจด้วยที่แม้หลายชาติได้ใช้มาตรการลงโทษรัสเซีย เขาเห็นว่าไม่เพียงพอ สิ่งที่ควรทำคือ ตัดรัสเซียจากระบบสื่อสารด้านการเงินระหว่างธนาคารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Swift (สวิฟท์) ซึ่งจะตัดเส้นทางการเงินของรัสเซีย หากไม่ทำก็เท่ากับชาติตะวันตกมีส่วนในสงครามด้วย
สำหรับชีวิตของชาวยูเครนต้องเปลี่ยนไปในชั่วข้ามคืนตั้งแต่เช้าวานนี้ ที่ประเทศตกอยู่ในภัยสงคราม ในกรุงเคียฟเกิดความโกลาหล ประชากรราว 3 ล้านคน ในเมืองหลวงแตกตื่น หลายคนหลบหนีออกไปทำให้จราจรคับคั่งติดขัดอย่างหนัก บางส่วนสามารถเดินทางออกไปยังต่างประเทศได้ ส่วนใหญ่คือโปแลนด์ที่ได้เปิดรับให้ความช่วยเหลือ ส่วนใหญ่ที่หลบหนีไปไม่ได้ต้องพึ่งสถานที่ต่างๆ ที่ใช้เป็นที่หลบภัย โดยเฉพาะสถานีรถไฟใต้ดินที่มีสภาพแออัด เช่นเดียวกับอีกหลายเมืองทั่วประเทศ
ส่วนในรัสเซียเองนั้น ในระหว่างทำสงครามนายปูติน ได้จัดการประชุมกับบรรดาผู้นำธุรกิจของรัสเซีย ให้คำรับประกันว่าสงครามเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคง ซึ่งเป็นสิ่งที่เลวร้ายน้อยที่สุดแล้ว ในขณะนี้ที่รัสเซียถูกลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างหนัก เขายังยืนยันว่ารัสเซียยังอยู่ร่วมในระบบเศรษฐกิจโลกอยู่เชื่อว่าคู่ค้าต่างๆ เข้าในรัสเซียดี
อย่างไรก็ตาม ชาวรัสเซียจำนวนมากตั้งคำตามกับนายปูติน ประชาชนจำนวนมากร่วมชุมนุมต่อต้านที่ไปรุกรานเพื่อนบ้าน มีผู้ออกมาประท้วงตามท้องถนนในหลายเมือง คัดค้านการกระทำของนายปูติน ร้องตะโกนว่า นี่ไม่ใช่สงครามของรัสเซีย แต่เป็นสงครามของปูติน ทำให้รัฐบาลส่งตำรวจออกปราบปรามการชุมนุมจับกุมผู้ประท้วงไปในหลายเมืองไม่ว่าจะเป็นกรุงมอสโก และนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รวมแล้วกว่า 1,700 คนแล้ว
เช่นเดียวกับหลายเมืองทั่วโลก ทั้งในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และหลายเมืองของสหรัฐ ในอเมริกาใต้ อย่างอาร์เจนตินาและชิลี ในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส โปรตุเกส และเพื่อนบ้านของยูเครน เช่น โปแลนด์ ฮังการี จอร์เจีย และมอลโดวา ผู้คนต่างประท้วงต่อต้านสงคราม ประณามนายปูติน และแสดงความเห็นอกเห็นใจเพื่อยืนเคียงข้างชาวยูเครน . – สำนักข่าวไทย