จาการ์ตา 23 เม.ย. – อาเซียนเตรียมจัดประชุมสุดยอดว่าด้วยเมียนมาในวันพรุ่งนี้ (24 เม.ย.) ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา จะเดินทางออกนอกประเทศหลังจากก่อรัฐประหาร
ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 730 คน และสถานการณ์ไม่มีทีท่าจะทุเลา แม้จะมีแรงกดดันจากนานาชาติ โดยที่อาเซียนซึ่งเมียนมาเป็นสมาชิกอยู่ก็ได้รับแรงกดดันไปด้วย ทำให้ในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมสุดยอดนัดพิเศษ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้ก่อรัฐประหารมีกำหนดจะไปร่วมการประชุมด้วย แม้ว่าฝ่ายต่อต้านรัฐประหารจะคัดค้านเพราะเท่ากับว่าเป็นการรับรองความชอบธรรมของรัฐบาลทหาร
อย่างไรก็ตามจุดมุ่งหมายหลักของการประชุมครั้งนี้ คือ การยุติการปราบปรามประชาชน ในเมียนมา จากนั้นก็เปิดทางให้อาเซียนนำความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับชาวเมียนมา แล้วหาทางเปิดเจรจาระหว่างผู้ก่อรัฐประหารกับฝ่ายต่อต้าน
นาย อีแวน เอ ลักษมานะ (Evan A. Laksmana) นักวิชาการของศูนย์ยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่กรุงจาการ์ตา กล่าวว่า นี่จะเป็นช่วงเวลาสำคัญมาก ที่น่าจะได้ทางออกทางการทูต เพื่อปูทางสู่การเจรจาหรือข้อตกลงเพื่อยุติความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม การที่อาเซียนไม่ได้เปิดทางให้ตัวแทนรัฐบาลพลเรือนและส.ส.ที่ถูกยึดอำนาจ ซึ่งเพิ่งตั้งรัฐบาลเงาในชื่อ “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” หรือ เอ็นยูจี (National Unity Government: NUG) เข้าร่วมประชุม จึงถูกตำหนิจากหลายฝ่ายเช่นกัน
ดร. ซาซ่า (Dr. Sasa) สมาชิกของเอ็นยูจี กล่าวว่า การที่อาเซียนเชิญ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมประชุมเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะผู้นำกองทัพพม่าเป็นอาชญากรที่สังหารผู้คนไปกว่า 730 คน แต่อาเซียนกลับไม่เชิญเอ็นยูจี ซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือนไปเข้าร่วม
นอกจากเสียงวิจารณ์นี้แล้ว สื่อต่างประเทศมองกันด้วยว่า การประชุมครั้งขาดน้ำหนักไปมากเมื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และ นาย โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ จะไม่เข้าร่วม นอกจากนั้นเป็นเรื่องยากที่ผู้นำอาเซียนจะสามารถสร้างแรงกดดันกต่อผู้นำทหารเมียนมาได้ และในที่สุดแล้วอาจจะทำให้อาเซียนต้องสูญเสียความน่าเชื่อถือในเวทีโลก.- สำนักข่าวไทย