ค็อกซ์บาซาร์ 3 ธ.ค.- บังกลาเทศเริ่มอพยพชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยไปยังเกาะที่สหประชาชาติและกลุ่มสิทธิติงว่าเป็นที่พื้นที่ลุ่มต่ำ เสี่ยงภัยน้ำท่วมและไซโคลน
ค่ายผู้ลี้ภัยทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศมีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ร่วมล้านคน ส่วนใหญ่หนีข้ามพรมแดนจากเมียนมาช่วงกองทัพปราบปรามกลุ่มติดอาวุธในปี 2560 พวกเขาไม่ยอมกลับประเทศหากไม่ได้รับการรับรองเรื่องสิทธิและความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีปัญหายาเสพติดและความรุนแรงในค่าย ทำให้รัฐบาลบังกลาเทศหาทางย้ายออกไปจากแผ่นดินใหญ่ ตำรวจท้องถิ่นเผยว่า วันนี้มีรถบัสอย่างน้อย 10 คัน นำชาวโรฮิงญาประมาณ 400 คน ออกจากค่ายผู้ลี้ภัยในเขตค็อกซ์บาซาร์ มุ่งหน้าไปยังเมืองท่าจิตตะกอง จากนั้นจะถูกพาขึ้นเครื่องบินกองทัพไปลงยังเกาะพาชันจาร์ในวันพรุ่งนี้ ก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่เผยกับเอเอฟพีว่า จะอพยพชุดแรก 2,500 คน ขณะที่กลุ่มสิทธิอ้างว่า ชาวโรฮิงญาบางคนถูกบังคับขึ้นรถโดยไม่เต็มใจ
เกาะพาชันจาร์อยู่ในอ่างเบงกอล มีพื้นที่ 52 ตารางกิโลเมตร ก่อตัวจากตะกอนเทือกเขาหิมาลัยในปี 2549 เป็นหนึ่งในตะกอนหลายแห่งที่โผล่พ้นน้ำมาได้ไม่นาน กองทัพเรือบังกลาเทศได้สร้างที่พักให้ชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 1 แสนคน และคันกั้นน้ำสูง 3 เมตร แต่คนท้องถิ่นเผยว่า เกาะนี้เพิ่งถูกน้ำทะเลท่วมเมื่อไม่นานมานี้ และอาจเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งหรือสตอร์มเซิร์จสูง 4-5 เมตรเมื่อไซโคลนพัดผ่าน สำนักงานสหประชาชาติในบังกลาเทศแถลงออกตัวในวันนี้ว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการอพยพชาวโรฮิงญา และได้รับข้อมูลอย่างจำกัด นอกจากนี้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปประเมินความปลอดภัย ความเป็นไปได้ และความยั่งยืนในการพักอาศัยบนเกาะนี้ หากชาวโรฮิงญาถูกอพยพไปแล้วพวกเขาจะต้องได้รับการศึกษาและบริการสุขภาพ รวมทั้งสามารถออกจากเกาะเมื่อต้องการ.- สำนักข่าวไทย