พนมเปญ 1 พ.ย.- นักวิชาการในกัมพูชามองว่า สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนมีการรวมตัวในภูมิภาคลึกซึ้งมากขึ้นหลังการก่อตั้งประชาคมอาเซียนเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ยังคงมีความท้าทายมากมายที่รอภูมิภาคนี้อยู่
เว็บไซต์สำนักข่าวซินหัวของจีนอ้างนายเชียง วรรณฤทธิ์ ประธานสถาบันวิสัยทัศน์เอเชียว่า อาเซียนประสบความสำเร็จเป็นพิเศษเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือภูมิภาคในการสร้างเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ เรื่องการเปิดเสรีการค้าการลงทุนมากยิ่งขึ้น เรื่องการอำนวยความสะดวกการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคและการเดินทางของบุคคล เรื่องการเพิ่มการไหลเวียนของสินค้าและบริการ ขณะเดียวกันความท้าทายหลักที่รออาเซียนอยู่คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกไซเบอร์และเศรษฐกิจดิจิทัล ช่องว่างระหว่างสมาชิกเก่ากับสมาชิกใหม่
ด้านนายโจเซฟ แมทธิวส์ อาจารย์มหาวิทยาลัยระหว่างประเทศในกรุงพนมเปญมองว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งประชาคมอาเซียนเมื่อปลายปี 2558 สมาชิกอาเซียนไม่เพียงรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ แต่ยังเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ ความท้าทายหลักของอาเซียนคือ ความแตกต่างในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และคุณภาพการศึกษาระหว่างชาติสมาชิก อาเซียนจึงควรแบ่งปันระบบการศึกษา ความรู้ หลักสูตร และงานวิจัยต่าง ๆ ระหว่างกัน การไล่ตามให้ทันการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การเปลี่ยนจากเศรษฐกิจธรรมดาเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล การเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมเน้นใช้แรงงานสูงเป็นอุตสาหกรรมเน้นความรู้ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ การลดช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน การแก้ปัญหาแรงงานข้ามพรมแดนและแรงงานลอบเข้าเมือง นายแมทธิวส์แนะว่า หากอาเซียนต้องการอยู่รอดในบรรยากาศที่กระแสเอกภาคนิยมและการปกป้องทางการค้ากำลังเข้ามาแทนที่พหุภาคีนิยมและข้อตกลงเขตการค้าเสรีอย่างรวดเร็ว อาเซียนควรดำเนินการเป็นกลุ่มและเป็นประชาคมเดียวเพื่อรับมือกับกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์และศัตรูของการพัฒนาโลก.-สำนักข่าวไทย