นิวยอร์ก 9 ก.ย.- นครนิวยอร์กของสหรัฐยังคงพบผู้ป่วยมะเร็งหรือโรคร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นพิษปกคลุมทั่วย่านแมนฮัตตันนานหลายสัปดาห์จากเหตุคนร้ายขับเครื่องบินพุ่งชนอาคารแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2544
อาคารแฝดที่พังถล่มทำให้สารเคมีพิษฟุ้งกระจายไปทั่ว ทั้งไดออกซิน แร่ใยหิน และสารก่อมะเร็งอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและอาสาสมัครที่เข้าไปกู้ภัยในช่วงเดือนแรก ๆ เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบก่อน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มนี้เสี่ยงเป็นมะเร็ง โรคหลอดเลือดและหัวใจเพิ่มขึ้น โครงการสุขภาพเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ของรัฐบาลกลางที่ตั้งขึ้นเพื่อรักษาผู้รอดชีวิตพบผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมาก โดยพบว่านับจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนปีนี้มีผู้เข้าโครงการที่ไม่ใช่ผู้เข้าไปกู้ภัยเป็นกลุ่มแรก ๆ มากถึง 21,000 คน เพิ่มขึ้นสองเท่าจากสามปีก่อน ในจำนวนเกือบ 4,000 คนเป็นมะเร็ง ส่วนใหญ่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เต้านมและผิวหนัง
สตรีคนหนึ่งที่ขณะนั้นอายุเพียง 26 ปี ทำงานห่างจากเวิลด์เทรดไปสองช่วงตึก ตรวจพบมะเร็งระยะแพร่กระจายในอีก 15 ปีต่อมาขณะเป็นคุณแม่ลูกสาม ส่วนชายวัย 37 ปี ตรวจพบมะเร็งลำไส้ระยะลุกลามเมื่อ 18 เดือนก่อนทั้งที่คนในครอบครัวไม่มีประวัติเป็นมะเร็งชนิดนี้ที่มักพบในผู้สูงอายุ เขาไม่ได้อยู่ในย่านที่เกิดเหตุ 11 กันยายน แต่ทำงานรังวัดที่ดินในย่านแมนฮันตันช่วงปี 2544-2546
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่า ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเป็นมะเร็ง แต่พบความเกี่ยวข้องชัดเจนระหว่างอัตราการเป็นมะเร็งกับการได้รับสารพิษ โดยพบว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-30 และเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น เพราะมะเร็งบางชนิดเช่นมะเร็งปอดต้องใช้เวลา 20-30 ปีกว่าจะแสดงอาการ
เหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2544 คร่าชีวิตคนไปเกือบ 3,000 คน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามร่างกฎหมายเมื่อเดือนกรกฎาคมขยายกำหนดเวลาให้ผู้เคราะห์ร้ายยื่นขอค่าชดเชยจากกองทุนชดเชยเหยื่อได้จนถึงสิ้นปี 2633 จากเดิมที่จะหมดอายุในสิ้นปีหน้า ปัจจุบันกองทุนจ่ายเงินให้ผู้รอดชีวิตที่ป่วยและผู้เสียชีวิตเฉลี่ยรายละ 240,000 ดอลลาร์สหรัฐ และ 682,000 ดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ (ราว 7.35 ล้านบาทและ 20.90 ล้านบาทตามลำดับ).- สำนักข่าวไทย