ปักกิ่ง 14 พ.ค.- สำนักข่าวเอเอฟพีวิเคราะห์เครื่องมือทางการค้าที่จีนอาจนำมาใช้ทำสงครามการค้ากับสหรัฐ หลังจากประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,887 ล้านบาท) ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ตอบโต้ที่ถูกสหรัฐขึ้นภาษีไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม
เอเอฟพีระบุว่า จีนนำเข้าสินค้าสหรัฐน้อยกว่าที่ส่งออกไปสหรัฐเกือบ 4 เท่า ขณะนี้จีนเก็บภาษีสินค้าสหรัฐแล้ว 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.46 ล้านล้านบาท) จากที่นำเข้าปีละ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.77 ล้านล้านบาท) ดังนั้นหากจีนขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐเป็นร้อยละ 25 ครอบคลุมสินค้าประเภทก๊าซธรรมชาติเหลว สารเคมี ผัก ผลไม้ อาหารทะเล จีนก็อาจไม่เหลือเครื่องมือในการตอบโต้สหรัฐอีก
เอเอฟพีวิเคราะห์เครื่องมือที่จีนอาจจะใช้ว่ามีอยู่ทั้งหมด 6 อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือ แข่งกันขึ้นภาษีกับสหรัฐ นายโรเบิร์ต ลอเรนซ์ อาจารย์ด้านการค้าและการลงทุน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดชี้ว่า ภาษีเป็นอาวุธที่ทำให้ผู้ใช้เจ็บตัวด้วยเช่นกัน เพราะจะทำให้ผู้ผลิตในประเทศมีต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น แต่ในยามที่ทำสงครามการค้า ผลกระทบทางเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องรอง เพราะสิ่งสำคัญคือการวางท่า การต่อรอง และการเมือง
เครื่องมืออย่างที่สองคือ การลดค่าเงินหยวน นายราจีฟ บิสวาส นักเศรษฐศาสตร์ของไอเอชเอสมาร์กิตไม่คิดว่าจีนจะบรรเทาผลจากการถูกขึ้นภาษีสินค้าจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 ด้วยการลดค่าเงินหยวนลงไปอีก เพราะนโยบายหลักของรัฐบาลจีนตั้งแต่ปี 2558 คือ รักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนและป้องกันกระแสเงินทุนไหลออกจำนวนมาก เพื่อไม่ให้กระทบต่อทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ หากลดค่าเงินหยวนเงินทุนจะทะลักออกนอกประเทศอย่างแน่นอน
เครื่องมืออย่างที่สามคือ การลงโทษธุรกิจสหรัฐในจีนด้วยระเบียบหรือมาตรการด้านศุลกากร นายเจค ปาร์เกอร์ สภาธุรกิจจีน-สหรัฐมองว่า มาตรการนี้คงได้รับเสียงสนับสนุนมากมายจากคนในประเทศ แต่จะบั่นทอนความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจในจีน เช่นเดียวกับนายจาคอบ ฟังก์ คีร์คีการ์ด นักวิจัยสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์นานาชาติที่มองว่า หากจีนใช้เครื่องมือนี้จะยิ่งเพิ่มความตึงเครียดเพราะสหรัฐอาจใช้วิธีเดียวกับที่เคยห้ามบริษัทอเมริกันขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่แซดทีอีของจีนเมื่อปีก่อนโดยอ้างว่าละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านและเกาหลีเหนือ
เครื่องมืออย่างที่สี่คือ การชักชวนคนคว่ำบาตรสินค้าสำคัญของสหรัฐ จีนเคยใช้วิธีนี้กับญี่ปุ่นในปี 2555 และกับเกาหลีใต้ในปี 2560 ทำให้ยอดขายสินค้าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในจีนร่วงไปถึงครึ่งหนึ่งภายในเวลาเดือนเดียว แต่วิธีนี้อาจทำให้ชาวจีนหลายล้านคนที่ทำงานกับบริษัทอเมริกันและหุ้นส่วนในจีนต้องตกงาน
เครื่องมืออย่างที่ห้าคือ การไม่ซื้อเครื่องบินโบอิงของสหรัฐ ปัจจุบันจีนซื้อเครื่องบินโบอิงถึงหนึ่งในสี่ บรรณาธิการของโกลบอลไทมส์ หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลจีนมองว่า มีความเป็นไปได้ที่จีนจะลดคำสั่งซื้อโบอิง เพราะเมื่อปลายเดือนมีนาคมจีนเพิ่งสรุปคำสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัสของยุโรป 300 ลำ ระหว่างที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเยือนฝรั่งเศส
เครื่องมือสุดท้ายคือ เทขายพันธบัตรสหรัฐ ปัจจุบันจีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ เพราะถือพันธบัตรกระทรวงคลังสหรัฐอยู่ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 37.78 ล้านล้านบาท) แต่หากจีนเทขายออกมาจำนวนมากก็จะทำให้ตลาดโลกไร้เสถียรภาพ ส่งผลให้พันธบัตรกระทรวงคลังสหรัฐที่จีนถืออยู่มีมูลค่าลดลง.- สำนักข่าวไทย