นิวเดลี 13 เม.ย.- ศาลฎีกาอินเดียมีคำสั่งให้พรรคการเมืองเปิดเผยชื่อผู้บริจาคนิรนามที่บริจาคเงินก้อนใหญ่ ขณะที่การต่อสู้ทางการเมืองทวีความเข้มข้นขึ้นหลังจากเปิดการเลือกตั้งระยะแรกไปเมื่อวันที่ 11 เมษายน จากทั้งหมด 7 ระยะ
ศาลฎีกามีคำสั่งเมื่อวานนี้ให้พรรคการเมืองเปิดเผยชื่อผู้ซื้อพันธบัตรเลือกตั้งในช่วงหลายเดือนมานี้ภายใน 7 สัปดาห์ หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งและกลุ่มสังเกตการณ์การเลือกตั้งร้องเรียนให้ยุติการขายพันธบัตรเลือกตั้ง เพราะเปิดช่องให้มีการบริจาคลับ ๆ เพื่อมีอิทธิพลต่อพรรคการเมือง รัฐบาลนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เปิดตัวพันธบัตรเลือกตั้งในปี 2560 มีราคาตั้งแต่ 15-140,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 475 บาท-4.44 ล้านบาท) เจาะจงพรรคการเมืองที่ต้องการซื้อให้ แต่ไม่เปิดเผยตัวคนชื้อ
มีข่าวว่า พรรคการเมืองในอินเดียใช้เงินเพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้มากถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 221,985 ล้านบาท) ทำให้หลายฝ่ายจับจ้องเรื่องที่มาของเงิน สมาคมเพื่อการปฏิรูปประชาธิปไตย หนึ่งในผู้ร้องเรียนระบุว่า พรรคภารติยะชนตะ หรือบีเจพี ที่นายกรัฐมนตรีโมดีสังกัดอยู่ได้รับเงินบริจาคปีที่แล้วทั้งปี 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4,759 ล้านบาท) กว่าครึ่งมาจากผู้บริจาคนิรนาม ส่วนพรรคคองเกรสของนายราหุล คานธีที่เป็นฝ่ายค้านหลักได้ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 951 ล้านบาท) ร้อยละ 60 มาจากผู้บริจาคนิรนาม
ข้อมูลของ Factly Indian เว็บท่าข่าวของอินเดียเผยว่า ปีที่แล้วมีการซื้อพันธบัตรเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไม่ต่ำกว่า 4,759 ล้านบาท) ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า มีการซื้อในปริมาณใกล้เคียงกันช่วงหลายเดือนก่อนที่การเลือกตั้งทั่วไปเปิดฉากเมื่อวันที่ 11 เมษายน การเลือกตั้งระยะที่สองจะมีในวันที่ 18 เมษายน และจะทยอยจัดไปจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม.-สำนักข่าวไทย