ฮ่องกง 3 เม.ย.- ผลการศึกษาของสหรัฐและแคนาดาพบว่า มลพิษทางอากาศจะทำเด็กที่เกิดในวันนี้อายุสั้นลงเฉลี่ย 20 เดือน แต่หากเป็นเด็กในเอเชียใต้จะอายุสั้นลงถึง 30 เดือน เพราะมลพิษรุนแรงที่สุด
รายงานภาวะอากาศโลก (State of Global Air) ของสถาบันผลกระทบสุขภาพที่ตั้งอยู่ในสหรัฐและมหาวิทยาลัยบริติทิชโคลัมเบียในแคนาดาที่อ้างข้อมูลจนถึงสิ้นปี 2560 ระบุว่า มลพิษในอากาศเป็นสาเหตุอันดับห้าที่ทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และมากกว่ามาลาเรีย อุบัติเหตุบนถนน ภาวะทุชโภชนาการ หรือสุรา แต่จะมีความแตกต่างกันไปตามภูมิภาค หากเป็นประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียแปซิฟิกและอเมริกาเหนือ มลพิษทางอากาศจะทำให้เด็กอายุสั้นลง 20 สัปดาห์ หากเป็นเอเชียตะวันออก เด็กจะอายุสั้นลง 23 เดือน และหากเป็นเอเชียใต้ เด็กจะอายุสั้นลง 30 เดือนเพราะได้รับมลพิษทางอากาศทั้งในบ้านและนอกบ้าน รายงานพบด้วยว่า คนครึ่งโลกรับมลพิษทางอากาศในบ้าน ส่วนใหญ่มาจากการเผาถ่านหรือไม้เพื่อหุงหาอาหารและให้ความร้อน พบมากที่สุดในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และทางใต้ของทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา
รายงานระบุว่า หากสามารถทำให้มลพิษทางอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก อายุขัยเฉลี่ยของคนในบังกลาเทศจะเพิ่มมากที่สุดถึง 1.3 ปี เช่นเดียวกับคนในอินเดีย ไนจีเรีย และปากีสถานที่จะมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1 ปี หากรวมอายุคนทั่วโลกที่สั้นลงในปี 2560 เพราะมลพิษทางอากาศจะมากถึง 147 ล้านปี ห้าประเทศที่มีผู้เสียชีวิตเพราะมลพิษทางอากาศมากที่สุดล้วนแต่อยู่ในเอเชียได้แก่ จีน อินเดีย ปากีสถาน อินโดนีเซียและบังกลาเทศ เฉพาะจีนประเทศเดียวมากถึง 852,000 คน.- สำนักข่าวไทย