จีน 8 พ.ย.-นายบิล เกตส์ ร่วมงานนิทรรศการและการประชุมเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านสุขภัณฑ์ ที่กรุงปักกิ่ง เปิดรูปแบบ “สุขาแห่งอนาคต” ที่เป็นนวัตกรรมซึ่งมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ให้ความสนับสนุนด้านงบประมาณทั้งหมดซึ่งอยู่ที่ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กลไกหลักของนวัตกรรมส้วมของบิล เกตส์ นั้น จะใช้สารเคมีในการแยกของเสียจากการขับถ่ายที่เป็นของแข็งและของเหลวออกจากกัน หลังจากนั้นจะใช้กระบวนการที่มิตรกับสิ่งแวดล้อมแปรสภาพให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์แทนซึ่งสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ นอกจากนี้บิล เกตส์ ยังได้ยกตัวอย่างสถิติการเสียชีวิตของเด็กที่เกิดในประเทศซึ่งมีระบบสุขาภิบาลที่ไม่ถูกสุขลักษณะมากกว่าปีละ 500,000 ราย ซึ่งองค์กรของเขาได้ร่วมมือกับนานาชาติในการช่วยเหลืออย่าง อินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ ในการจัดการด้านสุขาภิบาลอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังระบุว่าเขามองว่าตลาดที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขาภิบาลจะเติบโตอย่างมากในปี 2030 เนื่องด้วยการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก เขายังคาดการณ์ว่าตลาดสุขภัณฑ์โลกจะขยายตัวอีกมากกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 198,000 ล้านบาท) ภายในปี 2573
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศแผนยุทธศาสตร์ “ปฏิวัติสุขาสาธารณะ” มากกว่า 64,000 แห่งทั่วประเทศ เมื่อปลายปี 2017 โดยกำหนดกรอบระยะไม่เกินปี 2563 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศด้วย ตั้งแต่ปี 47 – 56 รัฐบาลลงทุนไปแล้วรวม 8,270 ล้านหยวน สิ้นปี 58 บ้านเรือน ในชนบทราว 75% มีส้วมชักโครกหรือส้วมแห้งซึ่งมีถังเก็บอยู่ใต้ดินใช้ มีกำแพง หลังคา ประตู หน้าต่าง และมีขนาดไม่น้อยกว่า 2 ตารางเมตร แต่แค่นั้นยังไม่พอจีนต้องเปิดตัวโครงการปฏิวัติสุขาทั่วประเทศ 3 ปีก่อน นับตั้งแต่เปิดตัวการปฏิวัติสุขา รัฐบาลลงทุนไปแล้วกว่า 20,000 ล้านหยวน ติดตั้งหรือปรับปรุงห้องน้ำในแหล่งท่องเที่ยวจำนวน 68,000 ห้อง
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาชนชั้นกลางจีนเกิด กระแสคลั่งไคล้ซื้อสุขาอัจฉริยะ ระหว่างเดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่น แม้ว่าสินค้าหลายชิ้นแท้จริงแล้วผลิตในจีน ด้วยความหวังจะเกาะกระแสปฏิวัติสุขา บริษัทจีนหลายแห่งจึงพยายามผลิตและวางตลาดสินค้าระดับไฮเอนด์ของตนเอง สมาคมเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนจีนรายงานว่า ตลาดสุขาอัจฉริยะในประเทศจีนปี 2559 เติบโต 59% เทียบกับปี 58 ทำยอดขายทะลุ 3.1 ล้านหน่วย และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ระหว่างการเดินหน้าการปฏิวัติสุขา ที่เบื้องหลังก็คือการรณรงค์เป็นวงกว้างยกระดับสินค้าเมดอินไชน่า จึงสร้างความหวังอันยิ่งใหญ่ว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง
ส่วนครัวเรือนอินเดียโดยเฉพาะในชนบทไม่นิยมสร้างห้องน้ำในบ้าน เนื่องจากความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมเรื่อง การสร้างศาสนสถานไว้หลังบ้าน ดังนั้น เพื่อทำให้บ้านเรือนสะอาดอยู่เสมอ ชาวอินเดียจึงยินดีปลดทุกข์ในทุ่งโล่ง ประชากรเมืองของอินเดียเกือบ 48% ยังไม่มีห้องสุขา ตัวเลขในชนบทอยู่ที่ 60% เพื่อขจัดการขับถ่ายแบบเปิดโล่ง นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี จึงปั้นโครงการพิเศษ “พันธกิจอินเดียสะอาด” ในปี 57 ตั้งเป้าสร้างห้องน้ำในทุกครัวเรือนของอินเดียภายในปี 62
ความสำคัญอีกประการของโครงการอินเดียสะอาด อยู่ที่ การสร้างหลักประกันถึงเกียรติภูมิของผู้หญิง มีข้อมูลว่า การที่บ้านไม่มีห้องน้ำยังทำให้ ผู้หญิงตกอยู่ในความเสี่ยง ผู้หญิงถูกข่มขืนและฆ่าระหว่างทางไปปลดทุกข์แบบเปิดโล่ง ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงจึงเป็นผู้คอยตรวจสอบดูแลการสร้างห้องน้ำ และเพิ่มการตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงต่อการขับถ่ายในที่โล่ง ที่ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายและสุดท้ายอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้.-สำนักข่าวไทย