ลอนดอน 6 ต.ค.- ผลการศึกษาใหม่พบว่า สุขภาพของคนทั่วโลกดีขึ้นและมีอายุขัยยืนยาวขึ้น แต่ความก้าวหน้านี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างถ้วนหน้า อีกทั้งยังมีโรคเรื้อรังที่ทำให้คนเจ็บป่วยระยะยาวและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากถึง 7 ใน 10 ราย
ผลการศึกษาเรื่องภาระโรคระดับโลกได้วิเคราะห์สาเหตุการเสียชีวิต 249 อย่าง โรคและการบาดเจ็บ 315 อย่าง ปัจจัยเสี่ยง 79 อย่าง ใน 195 ประเทศและดินแดนระหว่างปี 2533-2558 พบว่า ประชากรโลกมีอายุขัยเพิ่มขึ้นกว่า 10 ปีจากปี 2523 โดยเพิ่มเป็น 69 ปีสำหรับผู้ชาย และ 74.8 ปีสำหรับผู้หญิง สาเหตุหลักเป็นเพราะอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคติดต่อและโรคติดเชื้ออย่างเอชไอวี/เอดส์ มาลาเรีย และท้องร่วงลดลงมาก ขณะที่อัตราผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจและโรคมะเร็งก็ลดลงแม้ว่าน้อยกว่าก็ตาม
ผู้วิจัยระบุว่า การที่สุขภาพคนทั่วโลกดีขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การศึกษา และภาวะเจริญพันธุ์ แต่ใช้อธิบายไม่ได้กับบางประเทศ เช่น สหรัฐที่มีอัตราการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของประชาชน สาเหตุเพราะโรคเบาหวาน โรคอ้วน และการใช้สารเสพติด ผลการศึกษาพบด้วยว่า 7 ใน 10 ของการเสียชีวิตในปัจจุบันมีสาเหตุจากโรคไม่ติดต่ออย่างมะเร็ง หัวใจ หลอดเลือดสมอง เบาหวาน ขณะที่ 1 ใน 10 ทรมานจากการปวดศีรษะ ฟันผุ สูญเสียการได้ยินหรือการมองเห็น ส่วนปีที่แล้วปีเดียวมีสตรีกว่า 275,000 คนเสียชีวิตขณะตั้งครรภ์หรือคลอดบุตร ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุที่ป้องกันได้.- สำนักข่าวไทย