โตเกียว 1 ก.พ.- คณะนักวิจัยในญี่ปุ่นและออสเตรเลียร่วมกันพัฒนาชุดตรวจเลือดที่จะตรวจหาโปรตีนบ่งชี้ถึงความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้แต่เนิ่น ๆ
วารสารเนเจอร์ฉบับวันพุธเผยแพร่ผลการศึกษาของนักวิจัยศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุและชราภาพวิทยาแห่งชาติญี่ปุ่นร่วมกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นของออสเตรเลียว่า ผลการศึกษากับผู้ป่วยอายุ 60-90 ปี เป็นชาวญี่ปุ่น 121 คน ชาวออสเตรเลีย 252 คน มีทั้งผู้ที่มีความจำปกติ ผู้มีปัญหาความจำปานกลาง และผู้ป่วยอัลไซเมอร์พบว่า ชุดตรวจเลือดหาเบต้าอะไมลอยด์ ซึ่งเป็นโปรตีนที่สะสมอยู่ในสมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีความแม่นยำกว่าร้อยละ 90 ปูทางไปสู่การพัฒนาวิธีตรวจหาความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ที่ถูกกว่าและง่ายกว่าวิธีปัจจุบันที่เป็นการสแกนสมองหรือเจาะน้ำหล่อสมองไขสันหลังมาตรวจ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราว 915 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 28,680 บาท) นอกจากนี้ยังอาจช่วยให้บริษัทยาพัฒนายารักษาอัลไซเมอร์ได้รวดเร็วขึ้น เพราะจะหาผู้เสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์มาทดสอบประสิทธิภาพของยาได้ง่ายขึ้น
ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีอาการด้านความจำหลังจากเป็นแล้วหลายปี หากตรวจพบแต่เนิ่น ๆ จะมีโอกาสรักษาได้มากขึ้น ข้อมูลขององค์การสมองเสื่อมออสเตรเลียระบุว่า ผู้มีอายุ 85 ปีขึ้นไปมักมีอาการสมองเสื่อมราว 3 ใน 10 คน และผู้ป่วยสมองเสื่อมร้อยละ 70 มักเป็นอัลไซเมอร์ โรคนี้พบเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2450 โดย นพ.อาลอยส์ อัลไซเมอร์ จิตแพทย์และนักประสาทวิทยาชาวเยอรมัน.- สำนักข่าวไทย