ไมอามี 26 ม.ค. – นักวิจัยเปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดเมื่อวานนี้ที่ระบุว่า เมื่อประการังสัมผัสกับขยะพลาสติกในทะเลและมหาสมุทร ความเสี่ยงที่ประการังจะติดเชื้อโรคก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
นักวิจัยได้ตรวจสอบประการัง 120,000 จุดของแนวปะการัง 159 แห่ง ที่บางแห่งมีขยะพลาสติกและบางแห่งไม่มีปัญหาเรื่องนี้ใน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เมียนมา และประเทศไทย โดยโจลีอาห์ แลมป์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ในออสเตรเลีย กล่าวว่า พวกเขาพบว่า โอกาสที่ปะการังจะติดเชื้อโรคเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 89 เมื่อปะการังนั้นสัมผัสกับขยะพลาสติก แลมป์ กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามหาสาเหตุว่า ทำไมขยะพลาสติกถึงเป็นอันตรายต่อปะการังได้มากขนาดนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า พลาสติกอาจจะเป็นตัวเก็บเชื้อแบคทีเรียที่ดีและเป็นตัวกลางที่เหมาะสมในการส่งผ่านเชื้อโรคไปให้แก่ปะการังและเป็นอันตรายต่อปะการัง เช่น โรคไวท์ ซินโดรม สำหรับปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาแพร่ระบาดไปยังทะเลและมหาสมุทรทั่วโลก และนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แลมป์ กล่าวว่า ประมาณการว่า มีขยะพลาสติก 11,100 ล้านชิ้นบนปะการังทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ในระยะเวลา 7 ปี หรือเท่ากับขยะพลาสติก 15,700 ล้านชิ้นบนปะการังในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ภายในปี 2025 ขณะนี้ปะการังและแนวประการังก็ประสบปัญหาจากภาวะโลกร้อนอยู่แล้ว ซึ่งทำให้เกิดการฟอกขาวและตายได้.-สำนักข่าวไทย