กรุงเทพฯ 21 พ.ย. – แอมเนสตี้เผยรายงาน ชี้ชาวโรฮิงญาในเมียนมา ถูกจำกัดสิทธิพื้นฐานรอบด้านทั้งการเดินทาง การศึกษา และสาธารณสุข เพราะไม่มีเอกสารรับรองสัญชาติ แนะทางการเมียนมา-นานาชาติร่วมหาทางออก
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล แถลงรายงาน “Cage Without a Roof” หรือ “กรงขังที่ไร้หลังคา” จากการเข้าไปสำรวจชีวิตของชาวโรฮิงญาในพื้นที่รัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา เป็นเวลา 2 ปี เพื่อศึกษาบริบทความเป็นมาของความรุนแรงครั้งล่าสุดที่บีบให้ชาวโรฮิงญากว่า 600,000 คนต้องหนีตายข้ามพรมแดนไปยังบังกลาเทศ รายงานระบุว่า ชาวโรฮิงญาถูกเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบมานานหลายทศวรรษ จนต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานหลายด้าน และถูกปิดกั้นจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง
นางลอรา เฮย์ นักวิจัยประจำประเทศเมียนมาของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า การไม่มีหลักฐานรับรองสัญชาติได้สร้างความไม่สะดวกให้ชีวิตของชาวโรฮิงญาหลายประการ ข้อแรกคือไม่สามารถเดินทางได้อย่างอิสระ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ถนนในบางพื้นที่ อีกทั้งการเดินทางข้ามหมู่บ้านยังจำเป็นต้องขออนุญาตจากทางการก่อน ส่งผลกระทบต่อการหาเลี้ยงชีพ และเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร ประการต่อมา คือ ถูกจำกัดสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล โรฮิงญาไม่สามารถรับการรักษาในสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานสูงได้ เพราะต้องได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษจากทางการ และจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปด้วย ทำให้ชาวโรฮิงญาหลายคนเลือกเดินทางไปรักษาที่บังกลาเทศ ซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงมาก และประการสุดท้ายคือเด็กชาวโรฮิงญาเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ยาก เพราะไม่ได้รับสิทธิให้เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ทำให้โดนปิดกั้นการเรียนรู้จากโลกภายนอก
ทางด้านนางอันย่า นีสตัต ผู้อำนวยการอาวุโสด้านวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล กล่าวเสนอแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤติด้านสิทธิมนุษยนชนที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาว่า ต้องอาศัยการลงมือปฏิบัติจากทั้งทางการเมียนมา และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมุ่งสร้างความเชื่อมั่นว่ามาตรการให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาต่างๆ จะสามารถนำไปปฏิบัติได้เห็นผลจริง อีกทั้งขอให้การกระทำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความยุติธรรมแก่ชาวโรฮิงญา – สำนักข่าวไทย