นิวยอร์ก 18 ต.ค. – รายงานสถานการณ์ประชากรโลกประจำปี 2560 ของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ UNFPA ชี้ว่า ถ้าไม่มีการจัดการความไม่เท่าเทียมกันอย่างเร่งด่วนและสร้างพลังให้สตรีสามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตของตัวเองได้ ประเทศต่างๆจะต้องเผชิญกับความไม่สงบและภัยคุกคามต่อสันติสุขและเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ
รายงาน “โลกที่แตกแยก – สถานการณ์สิทธิและสุขภาวะทางเพศในยุคของความไม่เท่าเทียม” ยังชี้ให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันซึ่งรวมไปถึงเรื่องสิทธิและสุขภาวะทางเพศอาจส่งผลไปถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายของสังคมโลกได้ ความล้มเหลวในการให้บริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งรวมไปถึงการวางแผนครอบครัวให้กับสตรีที่อยู่ในกลุ่มที่ยากจนที่สุด สามารถสร้างจุดอ่อนแอให้กับระบบเศรษฐกิจและเป็นอุปสรรคต่อความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายที่ 1 ของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นั่นคือ การขจัดความยากจนให้หมดไปจากโลกนี้
ดร. นาตาเลีย คาเนม ผู้อำนวยการบริหาร UNFPA หรือกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า “วันนี้ ความไม่เท่าเทียมกันในประเทศต่างๆ ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องว่า มี หรือ ไม่มี เท่านั้น แต่ความไม่เท่าเทียมกันในวันนี้ เกี่ยวกับเรื่องที่ว่า สามารถ หรือ ไม่สามารถ มากขึ้น สตรีที่ยากจนขาดการสนับสนุนให้สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องขนาดของครอบครัว หรือสตรีที่มีสุขภาพที่ย่ำแย่เพราะจำนวนการให้บริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ไม่เพียงพอ ทำให้สตรีเหล่านี้ ‘ไม่สามารถ’ ตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศของตัวเองได้เลย”
รายงานยังระบุด้วยว่า บริการการวางแผนครอบครัวที่มีอยู่อย่างจำกัดส่งผลให้มีการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจถึง 89 ล้านครั้ง และมีการทำแท้งถึง 48 ล้านครั้งในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสุขภาพของสตรี แต่ยังจำกัดความสามารถของสตรีในการร่วมหรืออยู่ในตลาดแรงงานที่ได้รับค่าจ้างตอบแทนและก้าวต่อไปสู่อิสระทางการเงินอีกด้วย
รายงานฯ ฉบับนี้ยังแนะนำให้มุ่งช่วยกลุ่มคนที่อยู่รั้งท้ายหรือชายขอบก่อน ซึ่งสอดคล้องกับแผนหลักของสหประชาชาติที่มุ่งบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนและสังคมที่มีพื้นที่สำหรับทุกคนให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 ทั้งนี้ วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 มีเป้าหมายไปสู่ “อนาคตที่ดีกว่า อนาคตที่เราทุกคนช่วยกันขจัดอุปสรรคต่างๆ และแก้ไขความเหลื่อมล้ำต่างๆ ด้วยกัน ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีเป้าหมายที่จะลดความไม่เท่าเทียมกันในทุกด้าน และสิ่งที่จะช่วยลดความไม่เท่าเทียมกันได้อย่างมากคือ การทำให้สิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรีเกิดขึ้นจริง”.- สำนักข่าวไทย