จีน 30 ส.ค. – สารคดีโลกวันนี้ พาไปชมกวางสายพันธุ์หายากในจีน ที่มีลักษณะแปลกกว่ากวางทั่วไป และเกือบจะสูญพันธุ์ไปจากโลก
เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์กวางมี่หลู่ ศูนย์วิจัยระบบนิเวศกวางมี่หลู่ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเคยเป็นเขตล่าสัตว์ของจักรพรรดิจีน จะเฝ้าสังเกตสัญญาณของโรคภัยต่างๆ ในกวาง ผ่านทางระบบกล้องวงจรปิด พร้อมทั้งทำการวิจัยเชื้อโรคและพฤติกรรมของกวาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์กวางมี่หลู่ ที่เคยสูญพันธุ์ไปจากจีนในปี 2443
กั๋ว เกิง รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยบอกว่า กวางมี่หลู่ต่างจากกวางทั่วไป เพราะมีลักษณะละม้ายคล้ายกับสัตว์ 4 ชนิดในตัวเดียวกัน เขาของมันงอกไปด้านหลังไม่ใช่ด้านหน้า และรูปทรงไม่เหมือนส้อม ใบหน้ายาวเหมือนม้า กีบเท้ากว้างเหมือนวัว และหางยาวพอๆ กับลา นับเป็นกวางที่หางยาวที่สุดในบรรดากวางด้วยกัน
กวางมี่หลู่เคยอาศัยอยู่ตามพื้นที่ลุ่มของจีนมานานหลายพันปี พวกมันเป็นหนึ่งในบรรดาสัตว์จากทั่วประเทศที่ถูกนำมาปล่อยไว้ในเขตล่าสัตว์ของจักรพรรดิจีน ในสมัยราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง แต่จำนวนค่อยๆ ลดลงเพราะถูกล่า และแหล่งอาศัยถูกคุกคามจากจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น หลังจากปี 2408 ไปไม่กี่สิบปี กวางมี่หลู่ก็หายไปจากประเทศจีน แต่กลับไปปรากฏตัวในยุโรป เมื่อดยุคที่ 11 แห่งเบดฟอร์ดของอังกฤษซึ่งสนใจเกี่ยวกับนิเวศวิทยา เห็นว่ากวางสายพันธุ์นี้เสี่ยงจะสูญพันธุ์ จึงได้รวบรวมกวางมี่หลู่ 18 ตัว จากสวนสัตว์ในยุโรปมาเลี้ยงไว้ และเป็นกวางมี่หลู่ฝูงสุดท้ายที่เหลืออยู่
ต่อมาในปี 2528 มาเรีย บอยด์ นักสัตววิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งหลงใหลเรื่องราวของกวางชนิดนี้ ได้นำกวางมี่หลู่ 37 ตัว ที่ได้รับมอบจากดยุคที่ 11 แห่งเบดฟอร์ด กลับมาที่จีนอีกครั้ง โดยนำไปปล่อยไว้ในถิ่นฐานเดิมที่พวกมันเคยอยู่
กั๋ว เกิง บอกว่า จีนจะรับผิดชอบในการอนุรักษ์กวางมี่หลู่ต่อไป และการอนุรักษ์กวางไว้ก็เปรียบเสมือนการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่มีชีวิตและมรดกทางธรรมชาติที่บรรพบุรุษมอบให้ ปัจจุบันจีนมีกวางมี่หลู่อยู่ในธรรมชาติราว 5,500 ตัว และในศูนย์วิจัยอีก 150 ตัว แต่กวางมี่หลู่ไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในต่างประเทศเท่ากับแพนด้ายักษ์ที่เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของจีน . – สำนักข่าวไทย