เมียวดี 26 เม.ย.- สถานการณ์การสู้รบตลอดเดือนเมษายน ระหว่างกองกำลังฝ่ายต่อต้านกับกองทัพเมียนมาในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ทำให้ชื่อของ พันเอกซอ ชิตตู่ (Saw Chit Thu) ขุนศึกทรงอิทธิพลในเมืองนี้ กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกในชั่วข้ามคืน บางคนว่าเขาเป็นเจ้าของพื้นที่เมียวดีตัวจริง บางคนว่าเขาเป็นผู้มากบารมีประสานสิบทิศ บางคนว่าเขาเป็นแม่ทัพมาเฟียแห่งแม่น้ำเมย เขาคือใคร ถึงสะเทือนเมียนมาและไทยได้
ลำดับสถานการณ์การสู้รบในเมียวดี
วันที่ 5 เมษายน 2567 กองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นแอลเอ (KNLA) ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู (KNU) อ้างว่า ได้ร่วมมือกับกองกำลังกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือพีดีเอฟ (PDF) ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือเอ็นยูจี (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของเมียนมา เข้ายึดที่ตั้งทางทหารหลายแห่งในเมืองเมียวดี ที่อยู่ตรงข้ามกับอำเภอเม่สอด จังหวัดตากของไทยโดยมีเพียงแม่น้ำเมยเป็นพรมแดนกั้น พร้อมกับเผยแพร่ภาพอาวุธและเครื่องกระสุนจำนวนมากที่ยึดได้จากทหารเมียนมาราว 600 นายที่ยอมจำนนพร้อมกับครอบครัว หลายฝ่ายมองว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้สร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ให้แก่เมียนมา เพราะเมียวดีเป็นเมืองใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญมากที่สุดในบรรดาจุดผ่านแดนถาวรระหว่างไทยกับเมียนมา เพราะถึงแม้จะเกิดการสู้รบครั้งใหม่นับตั้งแต่กองทัพรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 การค้าทวิภาคีข้ามพรมแดนช่วงเดือนเมษายน 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 ยังคงมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มากกว่า 36,730 ล้านบาท)
ต่อมาวันที่ 10 เมษายน กองกำลังฝ่ายต่อต้านยึดกองทัพทหารราบที่ 275 ค่ายผาซอง ถือเป็นการยึดเมืองเมียวดีได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทหารเมียนมาที่เหลืออยู่ราว 200 นายถอยร่นไปปักหลักอยู่ที่สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 ขณะที่ผู้คนในเมืองเมียวดีพากันเดินทางมายังจุดผ่านแดนแม่สอดเพื่อเข้ามาหลบภัยในไทย ทางการไทยต้องเสริมกำลังตามแนวชายแดน และจุดกระแสวิตกเรื่องจะมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากทะลักเข้าไทย เพราะตัวเลขคนข้ามจากเมียวดีเข้ามาทางแม่สอดเพิ่มขึ้นจากวันละ 2,000 คน เป็นวันละเกือบ 4,000 คน
วันที่ 24 เมษายน สถานการณ์ในเมืองเมียวดีพลิกผันสร้างความแปลกใจให้แก่ทุกฝ่าย เมื่อเคเอ็นยูถอนกำลังออกจากเมียวดี โดยอ้างว่าเป็นการถอนกำลังชั่วคราว หลังจากทหารกองทัพเมียนมายกกำลังกลับเข้ามา ขณะที่โฆษกรัฐบาลเมียนมายืนยันว่า ทหารสามารถยึดค่ายผาซองกลับมาได้แล้ว และมีข้อตกลงหย่าศึกกับกองกำลังฝ่ายต่าง ๆ กำหนดให้เมียวดีเป็นพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่เศรษฐกิจ ยุติการสู้รบและเปิดทางการขนส่งสินค้า กำหนดให้ทหารรัฐบาลที่หลบหนีไปยังบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 กลับไปยังที่ตั้งหน่วยกองพัน 275 ค่ายผาซอง และให้เจ้าหน้าที่พลเรือนที่ประจำสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 กลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ
ชื่อของ ซอ ซิตตู่ ปรากฏ
ท่ามกลางกระแสข่าวที่ยังมีความคลุมเครือว่าฝ่ายต่อต้านและฝ่ายรัฐบาลตกลงกันได้อย่างไร ชื่อของพันเอกซอ ชิตตู่ ก็ปรากฏขึ้นในข่าวว่า เขาคือผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้
ซอ ชิตตู่ เกิดในรัฐกะเหรี่ยง (Kayin เดิมใช้ว่า Karen) เป็นทั้งทหารและเป็นนักธุรกิจ บางครั้งถูกขนานนานว่า ขุนศึก เป็นอดีตผู้บังคับบัญชากองพัน 999 ของกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตยหรือดีเคบีเอ (DKBA) และเข้าร่วมกับกองทัพพม่า ในปี 2537 เชื่อกันว่าเขาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของดีเคบีเอ มีธุรกิจขนาดใหญ่ด้านการค้าไม้ และมีข่าวลือว่าค้ายาเสพติด ต่อมาในปี 2553 เขาได้ยอมรับข้อเสนอของรัฐที่จะเปลี่ยนดีเคบีเอเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยงหรือกะเหรี่ยง บีจีเอฟ (Karen BGF ) ภายใต้การบังคับบัญชาของทัตมาดอว์ (Tatmadaw) ซึ่งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของกองทัพเมียนมา
ซอ ชิตตู่ ก่อตั้งบริษัทชิต มิน เลียง (Chit Lin Myaing) รับดำเนินโครงการต่าง ๆ และได้รับสิทธิพิเศษในรัฐกะเหรี่ยง จากนั้นในปี 2560 จับมือกับหย่าไถ้ อินเตอร์เนชันนัล กรุ๊ป สร้างเมืองใหม่หย่าไถ้ (Yatai) ขึ้นในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชเวก๊กโก่ (Shwe Kokko) แต่ถูกรัฐบาลสมัยนางออง ซาน ซู จี เปิดการสอบสวนโครงการ และระงับการก่อสร้างในปี 2563 บริษัทนี้เป็นของนายเฉอ เจ้อเจียง นักธุรกิจชาวจีนที่ถูกทางการไทยจับกุมในปี 2565 ตามหมายจับของทางการจีน
นอกจากนี้ซอ ชิตตู่ยังทำข้อตกลงกับตงเหมย กรุ๊ป พัฒนาเขตอุตสาหกรรมไซซีกัง หรือที่เรียกว่าเมืองเคเค ประธานบริษัทนี้คือนายหวัน ค็อกคอย เจ้าของฉายาคอย ฟันหลอ อดีตหัวหน้ากลุ่ม 14เค ที่เป็นกลุ่มอาชญากรระดับโลกจากมาเก๊า เขาประกาศในงานเปิดตัวโครงการในปี 2563 ว่า จะพัฒนาเมืองเคเคให้เป็นเซินเจิ้นแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กลายเป็นว่าเมืองนี้คือแหล่งอาชญากรรมข้ามชาติ หลอกลวงคนมาทำงานหลอกลวงออนไลน์หรือสแกมเมอร์ โดยมีการกักขังและทำร้ายร่างกายอย่างน่ากลัว
ภายหลังจากกองทัพเมียนมารัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลออง ซาน ซู จี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โครงการเมืองใหม่หย่าไถ้ที่ถูกระงับไปได้กลับมาเดินหน้าอีกครั้ง ซอ ชิตตู่ได้รับรางวัลยกย่องจากรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายน 2565 ในฐานะผู้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ แต่ในเดือนธันวาคม 2566 เขาถูกสหราชอาณาจักรประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรโทษฐานพัวพันการบังคับใช้แรงงานผู้ถูกล่อลวงให้ทำงานเป็นสแกมเมอร์
วันที่ 23 มกราคมปีนี้ ซอ ชิตตู่เผยกับสื่อว่า ได้หารือกับ พล.ท.ซอ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาว่า บีจีเอฟไม่ต้องการรับเงินและยุทโธปกรณ์จากกองทัพอีกต่อไป เนื่องจากต้องการเป็นอิสระและไม่ต้องการสู้รบกับชาวกะเหรี่ยงด้วยกัน จากนั้นในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เขาประกาศยุบกะเหรี่ยง บีจีเอฟ และเปลี่ยนเป็นกองกำลังกะเหรี่ยงแห่งชาติหรือเคเอ็นเอ (KNA)
TNA News-Now-Next: Final Thoughts
ณ วันนี้ 26 เมษายน 2567สถานการณ์การสู้รบในเมียวดีเบาบางลง คนในเมืองเมียวดีที่เข้ามาหลบภัยใน อ.แม่สอด ทยอยเดินทางกลับบ้าน ท่ามกลางความรู้สึกหวาดหวั่นว่า การสู้รบพร้อมจะปะทุขึ้นใหม่ได้ทุกเมื่อ ข้อตกลงหย่าศึกที่กองทัพเมียนมาตกลงกับกองกำลังฝ่ายต่าง ๆ ให้เมียวดีเป็นพื้นที่ปลอดภัยจะมีผลบังคับใช้ได้นานแค่ไหน หรือจะมีฝ่ายใดฉีกข้อตกลงก่อน ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ไทยต้องจับตาในฐานะที่มีพรมแดนด้านจังหวัดตากติดกับรัฐกะเหรี่ยง ไม่นับรวมพรมแดนด้านจังหวัดเชียงรายที่ติดกับรัฐฉาน ซึ่งเป็นอีกรัฐหนึ่งของเมียนมาที่กำลังมีการสู้รบกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านอย่างหนักหน่วงไม่ต่างกัน ส่วนบทบาทของซอ ชิตตู่ นั้นเห็นได้ชัดว่า เวลานี้เขาสามารถประสานประโยชน์ได้ เพื่อรักษาผลประโยชน์มูลค่ามหาศาล เป้าหมายใหญ่ของเขาคือรักษาความสงบต่อไปแบบนี้แน่นอน แต่หากมองในทางกลับกันถือว่าเป็นผลร้ายกับประชาชนชาวไทย เพราะในแง่หนี่งการสู้รบรอบนี้เป็นโอกาสดีเพื่อกวาดล้างและกำจัดธุรกิจมืด กาสิโน และ แหล่งอาชญากรรมที่อยู่ข้างรั้วไทย แม้ว่าเมื่อเสียงปืนจางหายไปดูจะเป็นผลดีต่อบรรยากาศชายแดน แต่แท้จริงแล้วโอกาสในการเก็บกวาดภัยร้ายที่สร้างความทุกข์เข็ญให้คนไทยและอีกหลายชาติก็จางหายไปด้วยเช่นกัน.-814(812).-สำนักข่าวไทย